อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ประกาศ “พร้อมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ทันที เร่งรัฐอำนวยความสะดวกด้านใบอนุญาต และยกเว้นกฎระเบียบที่ขัดต่อการลงทุน

05 Oct 2015
จากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมทั้งพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส) และ 4 พื้นที่ในจังหวัดสงขลา โดยมีมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจมากมาย ส่งผลให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามที่ภาครัฐประกาศมีราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนภาครัฐต้องเร่งกำหนดแนวทางแก้ไข ขณะเดียวกันปัญหาประการหนึ่งของนักลงทุน ที่จะไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น คือ มีความต้องการด้านสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ถนน รวมทั้งระบบ Logistics ฯลฯ เหมือนในนิคมอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้ การจูงใจด้านการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของแต่ละภาคส่วนที่ผ่านมา ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนในแบบทันทีทันใด

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ทันที โดยไม่ต้องรอระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำ และไฟฟ้า โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 พื้นที่ในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานลม พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (คิดเป็นโอกาสในการลงทุนพลังงานทดแทนรวม 300 MW / ปี) รวมถึงชีวมวลอัดแท่งที่สามารถผลิตได้ 10,000 ตัน / ปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็น Wood chip หรือ Wood pellet สามารถลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ทันที สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ ณ แหล่งผลิตไฟฟ้า ส่วนเชื้อเพลิงใช้วิธีการจัดซื้อจากชุมชนรอบโรงไฟฟ้าและบริเวณข้างเคียงตลอดระยะเวลาโครงการ 20 ปี ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนและเสริมความมั่นคงเศรษฐกิจชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

"หากพูดถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมลงทุนได้ทันทีที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐ (PPA) โดยไม่ต้องรอน้ำ – ไฟ และยังถือเป็นอุตสาหกรรม New Wave และเป็น Green Industry ที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ อีกทั้งวัตถุดิบที่นำมาผลิตพลังงานทดแทนยังเป็นวัตถุดิบที่สามารถหาได้จากท้องถิ่น ยังประโยชน์ไปถึงการสร้างรายได้ให้กับชุมชนตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ และประเด็นสำคัญคือนักลงทุนพร้อมที่จะลงทุนในเรื่องนี้ทันที" นายพิชัย กล่าวนายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมีความพร้อมในการลงทุน อีกด้านหนึ่งก็อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอำนวยความสะดวกด้านใบอนุญาต และยกเว้นกฎระเบียบที่ขัดต่อการลงทุน รวมถึงจัดเตรียมสายส่งไฟฟ้าให้กับโครงการ และดูแลราคาจำหน่ายไฟฟ้าตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ด้วย