ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล (Master Poll) เรื่อง เสียงสะท้อนของคนเห็นต่างและกลุ่มพลังเงียบต่อนโยบายแห่งรัฐ กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 1,057 ชุมชนตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 25 กันยายน – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558 พบว่า
เมื่อทำการจัด 5 อันดับแรก นโยบายรัฐที่กลุ่มคนขออยู่ตรงกลางที่เป็นพลังเงียบพอใจอันดับต้นๆ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า อันดับแรก การปกป้องและเชิดชูสถาบันฯ ส่งเสริมความจงรักภักดีของคนในชาติ ได้ 9.35 คะแนน รองลงมา การแก้ไขปัญหาการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ ได้ 7.92 คะแนน อันดับสาม การเดินหน้าป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ได้ 7.89 คะแนน รองๆ ลงไปคือ การเดินหน้าจัดระเบียบสังคม ปราบปรามการทำผิดกฎหมายทุกประเภท และความคืบหน้าในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มพลังเงียบพอใจ นโยบายรัฐในอันดับท้ายๆ ได้แก่ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้ 6.98 คะแนน การส่งเสริมการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน ได้ 7.02 คะแนน การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ ได้ 7.02 คะแนน และรองๆ ลงไปคือ การบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเรื่องปากท้องของประชาชน และการการส่งเสริมโครงการตลาดชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าของชุมชน
ในขณะที่กลุ่มเห็นต่าง แต่มีความพอใจต่อนโยบายรัฐในอันดับต้นๆ ได้แก่ อันดับแรก การปกป้องและเชิดชูสถาบันฯ ส่งเสริมความจงรักภักดีของคนในชาติ ได้ 9.20 คะแนน อันดับสอง ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ได้ 7.40 คะแนน อันดับสาม การแก้ไขปัญหาการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติได้ 6.80 คะแนน และรองๆ ลงไปคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของรัฐบาล และการปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม นโยบายรัฐที่กลุ่มเห็นต่าง พอใจในลำดับท้ายๆ ได้แก่ การเดินหน้าจัดโซนนิ่ง (zoning) พื้นที่เพาะปลูก และการเกษตรให้เหมาะสม ได้ 4.40 คะแนน การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง ได้ 4.80 คะแนน การพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากตัวแทนภาคประชาชน ได้ 4.80 คะแนน และรองๆ ลงไป คือ การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และการดำเนินธุรกิจ และ การบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเรื่องปากท้องของประชาชน ตามลำดับ
ดร.นพดล กรรณิกา กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า นโยบายรัฐปกป้องและเชิดชูสถาบันฯ เสริมสร้างความจงรักภักดีมาเป็นอันดับหนึ่งในความพอใจของทั้งกลุ่มคนเห็นต่างและกลุ่มพลังเงียบ แต่นโยบายรัฐการจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกและการสร้างงานสร้างรายได้และการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศยังไม่ตอบโจทย์ความพอใจของกลุ่มที่ถูกศึกษา เสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ตามโมเดล "ตลาดเกิดใหม่" หรือ อิเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต (Emerging Market, EM) มาปรับฐานการตลาดการเมือง (Political Market) เศรษฐกิจและสังคมมั่นคง หนุนเสริมหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้าถึงทุกกลุ่มครอบคลุมเป้าหมาย
"ยุทธศาสตร์ตลาดเกิดใหม่หรือ โมเดล EM สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทยหลายพื้นที่ที่ประชาชนมีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ไม่เป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่มีศักยภาพการเติบโตของตลาดเสรีทางเศรษฐกิจและมีอัตราของหนี้สาธารณะที่ควบคุมได้ โดยยุทธศาสตร์นี้เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เป้าหมายมาเป็นหุ้นส่วน (partner) ของการขับเคลื่อนการพัฒนา เน้นการส่งเสริมการลงทุนและการเติบโตภายในพื้นที่ เป็นมิตรกับนักลงทุนต่างชาติ มีแหล่งข้อมูลทางการตลาดให้หุ้นส่วนภาคประชาสังคมเข้าถึงได้ ต่อต้านการคอรัปชั่นโดยไม่ยอมถูกบีบคั้นให้ทุจริต ถ้าพื้นที่ไหนมีคอรัปชั่นก็ไม่ลงทุนในพื้นที่นั้น คณะวิจัยเชื่อว่า หากนำโมเดลนี้ไปขยายผลในแต่ละมิติทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมน่าจะทำให้กลุ่มเห็นต่างและกลุ่มพลังเงียบพอใจต่อนโยบายรัฐในด้านที่ยังมีคะแนนต่ำอยู่ให้สูงขึ้นได้และจะทำให้แรงเสียดทานลดลงในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า" ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ กล่าว