เช็คสัญญาณเตือนภาวะหัวใจล้มเหลว ภัยใกล้ตัวคนไทย

06 Oct 2015
ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภัยเงียบที่คนไทยน้อยคนนักจะรู้ตัวและรักษาได้ทันท่วงที ทั้งยังมีแนวโน้มของอุบัติการณ์ ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวประมาณ26 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 46% ภายในปี พ.ศ. 2573 และมีข้อมูลว่าคนที่มีอายุมากกว่า40 ปี 1 ใน 5 คนจะมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต สำหรับประเทศไทยแม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ระบุความชุกให้ประชากรไทย แต่จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวพบว่า ผู้ป่วยชาวไทยมีอายุเฉลี่ยที่ต่ำกว่าและป่วยมากกว่าผู้ป่วยในยุโรปและอเมริกา และจากข้อมูลในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ก็พบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาวะหัวใจล้มเหลวในทิศทางเดียวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวจึงมีความสำคัญอย่างมาก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และประธานโครงการอบรมทางวิชาการ Chiang Mai Cardiology Conference (CMCC) ได้ให้ข้อมูลภายในงานการประชุมวิชาการประจำปี 2558 "Evolution in Cardiovascular Medicine" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านหัวใจและหลอดเลือดอันเป็นประโยชน์ต่อการดูแลและรักษาผู้ป่วย กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวคือกลุ่มอาการที่เกิดจากหัวใจทำงานสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอหรือเกิดจากโครงสร้างกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ จนทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจ โดยลักษณะอาการจะต่างกันไปในแต่ละอวัยวะที่มีการไหลเวียนเลือดที่ไม่เพียงพอ ได้แก่ รู้สึกหายใจไม่ออก รู้สึกเพลียอ่อนแรง บวมที่ขาโดยเฉพาะเท้าและข้อเท้า หัวใจเต้นเร็ว-เต้นผิดจังหวะ ไอเรื้อรังหรือมีเสมหะที่มีเลือดปน น้ำหนักตัวขึ้นกระทันหันจากการบวมน้ำคั่งในร่างกาย เป็นต้น ทั้งยังรวมถึงผลข้างเคียงจากการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและความดันโลหิตสูง เป็นต้น

จากลักษณะอาการต่างๆ ของภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นได้ลดความสามารถในการทำกิจกรรมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและลดทอนความสามารถในการช่วยเหลือตนเองอีกด้วย อาทิ การทำงาน การออกกำลังกาย การเข้าสังคมกับเพื่อนและครอบครัว รวมถึงกิจกรรมทางเพศ จึงมักมีรายงานว่าผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจะตกอยู่ในภาวะจะซึมเศร้าและความเครียดวิตกกังวล ด้วยเหตุนี้ครอบครัวจึงควรให้การดูแลผู้ป่วยทั้งด้านสุขภาพและจิตใจอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามภาวะหัวใจหัวใจล้มเหลวเป็นภัยเงียบที่ไม่ค่อยส่งสัญญาณอาการของโรคมากนัก ดังนั้นการสังเกตตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบตนเองจากสัญญาณเตือนถึงภาวะหัวใจล้มเหลว ได้ดังนี้

1. เริ่มหายใจติดขัด หายใจไม่ออก

2. มีอาการไอเรื้อรัง หรือมีเสียงขณะหายใจ

3. มีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียได้ง่ายอย่างผิดปกติ

4. ขาดความรู้สึกอยากอาหาร หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

5. มีความรู้สึกสับสน มีความบกพร่องด้านการคิดวิเคราะห์

6. หัวใจเต้นเร็วขึ้น

โดยหากมีอาการตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป แม้ว่าจะยังไม่เคยเป็นโรคทางหัวใจและหลอดเลือดมาก่อนก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

"การหลีกเลี่ยงจากภาวะหัวใจล้มเหลวทำได้โดยการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคเบาหวาน การติดเชื้อไวรัส การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความอ้วน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดังนั้นการปรับวิถีชิวิตเพื่อช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้เป็นอย่างดี อาทิ การงดสูบบุหรี่ การควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม รวมทั้งการลดความเครียด" ศาสตราจารย์นายแพทย์ อภิชาต กล่าวเพิ่มเติม

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit