ผลสำรวจ TNS Connected Life ชี้พรมแดนใหม่บนโลกออนไลน์ เมื่อผู้คนหันใช้แพลตฟอร์มปิดที่เพิ่มความเป็นส่วนตัวอย่าง Instant Messaging มากขึ้น โดยจำนวนผู้เข้าใช้งานเป็นประจำทุกวันเพิ่มขึ้น 12% ทั่วโลก และ 40% ในประเทศไทยภายในหนึ่งปี

06 Oct 2015
- ผลสำรวจ Connected Life โดยบริษัทวิจัยทีเอ็นเอส ครั้งล่าสุดเผยความนิยมในบริการรับส่งข้อความทันที (Instant messaging) หรือ แอพพลิเคชั่นแชทต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า 55% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก และ 61% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้งานแอพแชทในทุกวัน
ผลสำรวจ TNS Connected Life ชี้พรมแดนใหม่บนโลกออนไลน์ เมื่อผู้คนหันใช้แพลตฟอร์มปิดที่เพิ่มความเป็นส่วนตัวอย่าง Instant Messaging มากขึ้น โดยจำนวนผู้เข้าใช้งานเป็นประจำทุกวันเพิ่มขึ้น 12% ทั่วโลก และ 40% ในประเทศไทยภายในหนึ่งปี
  • สำหรับในประเทศไทย การรับส่งข้อความทันที (Instant messaging) ขยายตัวขึ้นในวงกว้าง โดยมีสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ระบุว่าใช้งานแอพฯแชททุกวันมากขึ้น 40% จากสัดส่วนเดิม 34% ขยับเป็น 74% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยภายในหนึ่งปี
  • Facebook ยังครองตำแหน่งดิจิทัลแพลตฟอร์มยอดนิยมทั่วโลก WeChat และ WhatsApp กำลังทยอยขยายเครือข่ายผู้ใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก โดยความนิยมใน Instant Messaging ที่สูงขึ้นสร้างโอกาสและความได้เปรียบให้แก่แบรนด์ที่มีความพร้อมจะก้าวสู่การตลาดยุคที่มีคอนเทนต์เป็นตัวนำ

ความนิยมในการบริการรับส่งข้อความทันทีหรือแอพพลิเคชั่นแชทต่างๆขยายตัวในวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนของผู้คนทั่วโลกที่บอกว่ามีการใช้งานแอพฯแชทเป็นประจำทุกวันเพิ่มมากขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา สะท้อนชัดเจนว่าผู้บริโภคหันไปนิยมใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์บนแพลตฟอร์มระบบปิดที่เพิ่มความเป็นส่วนตัวมากขึ้นอย่าง Facebook Messenger Line WhatsApp และ WeChat ขณะที่ แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ทเวิร์กเองยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

ทีเอ็นเอส บริษัทให้คำปรึกษาและข้อมูลการตลาดชั้นนำ เผยผลสำรวจทีเอ็นเอส Connected Life 2015 ที่ศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมในยุคดิจิทัลของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกจากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง กว่า 60,000 คนใน 50 ประเทศโดยพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่ง (55%) ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกนั้นมีการรับส่งข้อความแบบทันทีผ่านแอพพลิเคชั่นแชททุกวัน ขณะที่ 76% ใช้งานเป็นประจำทุกสัปดาห์ และเมื่อมองลงลึกมาถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การรับส่งข้อความทันทีนั้นได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น โดยพบว่ามากกว่า 3 ใน 5 (61%) ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียแปซิฟิกใช้งานแอพฯแชทเป็นประจำทุกวัน

มร. โจ เว็บบ์ ผู้อำนวยการงานวิจัย Connected Life ทีเอ็นเอส โกลบอล กล่าวว่า ความนิยมในแพลตฟอร์มรับส่งข้อความแบบทันทีอย่าง Snapchat, WeChat และ WhatsApp กำลังเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ต้องการแบ่งปันประสบการณ์กับคนเฉพาะกลุ่ม แบบจำกัดผู้รับสารในขนาดกลุ่มที่เล็กลง หรือ จำกัดผู้รับสารตามบทสนทนาในแต่ละด้าน มากกว่าจะใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้อย่าง เฟซบุ๊ค และ ทวิตเตอร์

ดร.อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการ ทีเอ็นเอส ประเทศไทย กล่าวว่า การรับส่งข้อความแบบทันทีมักจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในกลุ่มประเทศที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์แรกเริ่มและอุปกรณ์หลักในการเชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์ของคนส่วนใหญ่ ทำให้มีสัดส่วนผู้คนที่ใช้แชทแอพพลิเคชั่นเป็นประจำทุกวันสูง อาทิ 77% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในมาเลเซีย 74% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย และ 75% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไต้หวัน สำหรับประเทศไทยนั้น สัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยที่เข้าใช้แอพพลิเคชั่นแชทเป็นประจำทุกวันนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 40% จากเดิม 34% เป็น 74% ภายในระยะหนึ่งปีเท่านั้น โดยมีผู้ให้บริการอย่าง Line และ Facebook Messenger ได้รับความนิยมสูงสุดในไทย 79% ระบุว่าใช้ Line ทุกวัน และ 48% ระบุว่าเคยใช้งาน Facebook Messenger ทุกวัน

ขณะที่ ความนิยมในแพลตฟอร์มรับส่งข้อความแบบทันทีเพิ่มสูงขึ้นมาก แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยังมีอัตราการใช้งานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่เข้าใช้โซเชียลมีเดียทุกวันเพิ่มขึ้นอีก 6% จากปีที่ผ่านมา ผลสำรวจ Connected Life ครั้งล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเชื่อมโยงถึงกันมากยิ่งขึ้นบนหลากหลายแพลตฟอร์ม สะท้อนถึงโอกาสที่ข้อมูลหรือคอนเทนต์การตลาดสามารถกลายเป็นกระแสได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นความท้าทายของแบรนด์ในมุ่งสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ผู้บริโภคต้องการพูดถึงและแบ่งปันให้กับบุคคลรอบข้างผ่านสื่อดิจิทัลต่างๆในมือ

ผลสำรวจดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า ในส่วนของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้นชัดเจนว่า Facebook ยังคงรักษาตำแหน่งโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลก มากกว่าหนึ่งในสาม (30%) ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกระบุว่าเข้าใช้เฟซบุ๊กทุกวัน อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการใช้งานเฟซบุ๊กทุกวันที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย อาทิ 78% ในไทย 75% ในไต้หวัน และ 72% ในฮ่องกง เป็นต้น โดยสำหรับประเทศไทย โซเชียลเน็ตเวิร์กยอดนิยมที่คนไทยเข้าใช้งานเป็นประจำทุกวัน คือ Facebook (78% ระบุว่าใช้งานทุกวัน) ตามมาด้วย Instagram (20% ระบุว่าเข้าใช้งานทุกวัน)

มร. โจ เว็บบ์ ผู้อำนวยการงานวิจัย Connected Life ทีเอ็นเอส โกลบอล กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าระบบรับส่งข้อความทันที หรือ Instant Messaging กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน แต่กลับยังไม่ชัดเจนว่าผู้ให้บริการแชทแอพพลิเคชั่นรายใดสามารถครองตำแหน่งผู้นำแอพพลิเคชั่นแชทที่มีความนิยมครอบคลุมหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชีย แม้จำนวนผู้ใช้งานของ Facebook Messenger WeChat และ WhatsApp จะได้รับความนิยมในวงกว้าง แต่แอพฯแชทที่ครองความนิยมในภูมิภาคนี้ก็ยังค่อนข้างหลากหลายแตกต่างกัน

"ความหลากหลายของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับความนิยมทำให้แบรนด์ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสารการตลาดได้อย่างครบวงจร เนื่องจากพฤติกรรมออนไลน์ของผู้บริโภคนั้นมีความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น แบรนด์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งแพลตฟอร์มรับส่งข้อความแบบทันทีที่กำลังขยายตัวในวงกว้างและจับตาดูแนวโน้มการเติบโตของแพลตฟอร์มใหม่ๆควบคู่กันไป อาทิ แพลตฟอร์มน้องใหม่แม้เพิ่งเริ่มได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานกลุ่มเล็ก แต่ผลสำรวจครั้งนี้พบว่า ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวค่อนข้างแอคทีฟในการรับข้อมูลข่าวสาร โดย 40% ของผู้ใช้ Vine และ 44% ของผู้ใช้ Snapchat ระบุพวกเขาได้รับสารเกี่ยวกับแบรนด์สินค้าผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวทุกสัปดาห์ ขณะที่ 43% ของผู้ใช้งาน WeChat ใช้แพลตฟอร์มเพื่อเข้าดูข้อมูลบริการของบริษัทต่างๆ"

อย่างไรก็ตาม กระแสนิยมในตัว Instant Messaging ที่เกิดขึ้นทำให้แบรนด์ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการสื่อสารการตลาด เพราะระบบการรับส่งข้อความแบบทันทีนั้นเป็นพื้นที่ปิดและมีความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคค่อนข้างสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกสรรคอนเทนต์ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับตนเองหรือมีคุณค่าในการแบ่งปัน สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าคอนเทนต์ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการผ่านช่องทางต่างๆที่ผู้บริโภคนิยม อาทิ การรับส่งข้อความแบบทันที โซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงสื่อดั้งเดิมอื่นๆ

หากเป็นเมื่อก่อน การใช้สื่อโทรทัศน์ให้ประสบความสำเร็จมากที่สุดอาจเคยเป็นโจทย์หลักที่นักโฆษณาต้องคำนึงถึง แต่สำหรับวันนี้ ความท้าทายที่สำคัญเปลี่ยนมาเป็นการปรับระดับการพึ่งพิงสื่อโทรทัศน์และหันมามุ่งเน้นที่โมเดลสร้างสรรค์คอนเทนต์เป็นหลัก ด้วยวัตถุประสงค์ที่ทำอย่างไรก็ได้ให้มีคนพูดถึงผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภค

เกี่ยวกับ Connected Life

Connected Life เป็นผลสำรวจชั้นนำระดับโลกที่ ทีเอ็นเอส จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมในยุคดิจิทัลของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง กว่า 60,000 คนใน 50 ประเทศขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2014 โดยศึกษาดูว่าเทคโนโลยีมีบทบาทเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้บริโภคในทั่วทุกมุมโลกในแง่มุมใดบ้าง พร้อมแง่มุมเชิงลึกเกี่ยวกับการเสพสื่อดิจิทัลConnected Life เป็นเสมือนคลังข้อมูลผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่ TNS จัดทำขึ้นปีละครั้ง สำหรับนักการตลาดทั่วโลกใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดกลยุทธ์ในการเข้าถึงผู้บริโภคยุคดิจิทัล

เกี่ยวกับ ทีเอ็นเอส

ทีเอ็นเอส เป็นหนึ่งในบริษัทวิจัยชั้นนำระดับโลก ด้วยเครือข่ายสำนักงานในกว่า 80 ประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยทางการตลาดเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจในหลากหลายด้าน อาทิ การขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ การพัฒนานวัตกรรมสินค้า แบรนด์และการสื่อสารการตลาด การพัฒนาความสัมพันธ์ลูกค้าและพนักงานในองค์กร ด้วยความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยและโซลูชั่นด้านการวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจทีเอ็นเอส เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทคันตาร์ (Kantar) ซึ่งเป็นกลุ่มให้คำปรึกษา ข้อมูล และการวิเคราะห์เจาะลึกในเครือ WPP ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทีเอ็นเอส (TNS) ได้ที่ www.tnsglobal.com