"ผมเคยฝึกฝนงานศิลปะมาตั้งแต่เรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงมีพื้นฐานความรักและชอบศิลปะอยู่ อย่างน้อยก็ชอบดูผลงานศิลปะต่าง ๆ"
"อาชีพและงานที่ทำมาโดยตลอดของผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ จึงไม่ได้ทำงานด้านนี้เลย ที่ยังขีด ๆ เขียน ๆ อยู่บ้างก็โดยความชอบและมีอารมณ์อยากจะเขียน และมีความสุขเมื่อได้เขียนภาพ"
"ทำไมรูปเหล่านี้บันทึกเป็นลายสั้นไม่มากมายนัก เป็นแบบง่าย ๆ ก็เพราะวาดในเวลาอันจำกัด ไม่ถึงนาที บางรูปใช้เวลาไม่กี่วินาที เพื่อต้องการบันทึกเหตุการณ์ไว้เท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้เป็นงานศิลปะหรือภาพเหมือน ทั้งภาพบุคคล สถานที่ ทิวทัศน์ เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การประชุม การหาเสียง การชุมนุม การท่องเที่ยว แม้กระทั่งงานมงคลและอวมงคล ก็จะหยิบปากกาขึ้นมาวาดสิ่งที่เห็น สิ่งที่อยู่ตรงหน้า"
ภาพหนึ่งภาพสามารถอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรได้หลายหน้า เช่น ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณชวนวาดเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นช่วงเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นต้องลาออก การเมืองเปลี่ยนแปลง พรรคที่ ๒ คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล ทำให้คุณชวนขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญ ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน มีการทำบุญ เลี้ยงพระเพล ขณะนั้นคุณชวนมีสมุดเล็ก ๆ ติดตัวไว้ จึงวาดภาพของพระองค์ในขณะมีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระสังฆราช
"มีรูปบางรูปที่เขานั่งให้เขียนหรือขอให้เขียน เช่น รูปนายมูรายาม่า นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น คือเมื่อปี ๒๕๓๗ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก รัฐบาลญี่ปุ่นจัดเลี้ยงอาหารค่ำ ก่อนเสิร์ฟกาแฟ มีคนนำกระดาษมาให้ บอกให้เขียนรูปนายกให้หน่อย ตอนนั้นใช้เวลาประมาณ ๓ นาที พอนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเห็นรูปก็ตกใจ แล้วชูให้ทุกคนที่โต๊ะอาหารดู ทุกคนก็ปรบมือ"
คุณชวน หลีกภัยสามารถวาดรูปได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งอยู่ในลิฟท์ จึงมีผลงานลายเส้นที่หลากหลาย ทั้งนี้ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๔๐ กล่าวถึงผลงานศิลปะของนายชวน หลีกภัยไว้ว่า "เป็นภาพลายเส้นที่แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำ ความมีสติ และความเป็นคนช่างสังเกตของผู้วาด อันเป็นผลมาจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องมายาวนาน"
คุณชวน หลีกภัย ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติโดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น "ฐาปนันดรศิลปิน" ซึ่งถือเป็นศิลปินอันดับสี่ของประเทศไทย รองจาก "อัครศิลปิน" ซึ่งคณะกรรมการวัฒธรรมแห่งชาติ ถวายเป็นพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, "อัคราภิรักษศิลปิน" อันเป็นพระราชสมัญญาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ"วิศิษฎศิลปิน" อันเป็นพระสมัญญาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทั้งนี้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติเมื่อปี ๒๕๕๔ ให้มีการประกาศยกย่องคุณชวน หลีกภัย เป็น "ฐาปนันดรศิลปิน" หมายถึงผู้เป็นหลักก่อตั้งโครงการศิลปินแห่งชาติ สืบเนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้เกิดโครงการศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๒๗ และยังเป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถ มีศักยภาพทางด้านศิลปะได้รับการดูแลและสนับสนุน
ชวน หลีกภัย จึงไม่ได้เป็นเพียงศิลปินและผู้อุปถัมภ์งานด้านศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างในการใช้เวลาทุกวินาทีอย่างมีคุณค่า ดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า "เวลาที่สูญไปกับภารกิจต่าง ๆ ได้คืนกลับมาด้วยวิธีการจดบันทึกเป็นลายเส้นแทนตัวอักษร"
นับเป็นโอกาสอันดีที่ชาวพิหษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงได้มีโอกาสชื่นชมนิทรรศการศิลปะ "ลีลา ลายเส้น" โดยฐาปนันดรศิลปิน ชวน หลีกภัย ระหว่างวันที่ ๕ – ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๘
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit