ทั้งนี้ 1 ใน 8 มาตรการ คือ การสำรวจความต้องการชุมชนเพื่อจัดทำแผนชุมชน ซึ่งครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความต้องการและจัดทำแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และรวบรวมส่งให้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิฤกตภัยแล้งปี 2558/59 เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการช่วยเหลือและสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ที่ยังได้รับผลกระทบภัยแล้งโดยเร่งด่วนต่อไป
สำหรับพื้นที่เป้าหมายดำเนินการแบ่งเป็น 1) พื้นที่วิกฤตภัยแล้ง คือ พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด?ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพฯ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลกพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ มีเกษตรกรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 330,000 ครัวเรือน และ 2) พื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 55 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ขับเคลื่อนทั้ง 8 มาตรการเกิดผลชัดเจนและลดผลกระทบภัยแล้งได้ทันต่อสถานการณ์ รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำโดยเฉพาะในลุ่มเจ้าพระยาที่จะเริ่มทำการเพาะปลูกในวันที่ 1 พ.ย.นี้ กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัดประชุมทางไกลร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในวันพรุ่งนี้ ( 8 ต.ค.) เพื่อชี้แจงแนวทางการทำงานในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับพื้นที่ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน