มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จับมือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว จัดงาน "สัมมนาวิชาการและงานหนังสือ (Book Fair)" ครั้งที่ 5 เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน พร้อมสร้างบรรยากาศทางวิชาการ และการเรียนรู้แก่นักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชน สปป.ลาว สามารถเข้าถึงหนังสือที่สอดคล้องกับความต้องการ โดย 3 กลุ่มหนังสือขายดีในลาว ได้แก่ กลุ่มหนังสือเกี่ยวกับภาษา กลุ่มหนังสือเกี่ยววัฒนธรรม และกลุ่มหนังสือวิชาการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า "การอ่าน" เป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้และการเติบโตทางสติปัญญา เพราะนอกจากผู้อ่านจะได้รับความรู้หรือข่าวสารจากเรื่องราวที่อ่านแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการฝึกไล่เรียงลำดับความคิดและการสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในสิ่งที่สนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์และเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษาในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหน่วยงานที่มีศักยภาพในการให้บริการส่งเสริมด้านการศึกษาจึงได้ริเริ่มงานสัมมนาวิชาการและงานหนังสือ (Book Fair) ณ กรุงเวียงจันทร์ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิชาการและการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาคณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปของ สปป.ลาว อีกด้วยสำหรับความร่วมมืออื่นๆ กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวนั้น ที่ผ่านมา มธ. ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ในรูปแบบกิจกรรมวิชาการที่หลากหลาย อาทิ กิจกรรมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ โดยคณะนิติศาสตร์ มธ. ในหัวข้อ การค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ และเรื่องความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิงในไทย และ สปป.ลาว กิจกรรมแลกเปลี่ยนคณาจารย์ โดยอาจารย์คณะนิติศาสตร์ เข้าไปสอนนักศึกษาระดับปริญญาโท ฯลฯ
ด้าน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรายละเอียด กิจกรรม "สัมมนาวิชาการและงานหนังสือ (Book Fair)" ครั้งที่ 5 ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาโดยศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวบรวมทั้งจาก ศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยต่างๆ และสำนักพิมพ์ทั่วประเทศ รวมแล้วกว่า 40,000 เล่ม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากทั้งคณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปของ สปป.ลาว โดยประเภทหนังสือที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ หนังสือเกี่ยวกับภาษา หนังสือวิชาการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ อันสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนลาวที่ให้ความสนใจในเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ การดูแลรักษาสุขภาพ ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีหนังสือทั่วไปอย่าง วรรณกรรม งานฝีมือ การท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของประชาชนลาวที่คล้ายคลึงกับคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เลือกอ่านหนังสือประเภท พ็อคเก็ตบุ้ค เพื่อความบันเทิง หรือ ผ่อนคลายจากความเครียด
"จากความสำเร็จของการจัดงานหนังสือ ภายใน สปป.ลาว ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาครัฐของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวพึงพอใจ และสนับสนุนให้ศูนย์หนังสือ มธ. เข้ามาจัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวอีก พร้อมกันนี้ยังเสริมให้เพิ่มระยะเวลาการจัดงานให้นานขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีของศูนย์หนังสือไทยในการเสริมสร้างศักยภาพสู่การเป็นศูนย์กลางความรู้แห่งอาเซียนได้ในอนาคต" ศ.ดร.สุรพล กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายจินดา สีพาลา นักศึกษาชั้นปี 3 คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาลาวและสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ได้กล่าวถึงประโยชน์และความสำคัญของการอ่าน ว่า การอ่านหนังสือ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างทักษะความรู้ และพาเราไปเรียนรู้โลกที่กว้างขึ้นแล้ว ยังช่วยยกระดับความคิดและสามารถในการเรียนหรือการทำงานต่างๆ ได้ อาทิ ช่วยให้เราคิด-อ่าน-เขียน อย่างเป็นระบบ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น เป็นต้น โดยประเภทหนังสือที่ชอบอ่านมากที่สุดคือ หนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จ (อย่างสตีฟ จ็อบส์และขงจื้อ) หนังสือประวัติศาสตร์ และข่าวสารรายวันจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งการอ่านเหล่านี้ นอกจากจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและฝึกภาษาไปในตัวแล้ว, ยังได้เรียนรู้และเข้าใจในรากเหง้าและเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ, ตลอดจนทำให้เรามีความคิดที่รอบด้านและก้าวทันโลกมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นับว่ามีส่วนช่วยด้านการเรียนสื่อสารมวลชนเป็นอย่างมาก ที่จะต้องรู้รอบด้านและทันต่อเหตุการณ์ เพราะหากเราไม่ชอบอ่านหนังสือหรือติดตามข่าวสารแล้ว อาจทำให้ไม่เข้าใจในวิชาที่อาจารย์สอนได้ แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรูปเล่มหนังสือ เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้เราสามารถเลือกอ่านผ่านอินเตอร์เน็ตได้หลากหลาย สำหรับการอ่านผ่านหนังสือนั้น โดยส่วนตัวมองว่า มีเสน่ห์และมีคุณค่าที่จับต้องได้มากกว่าการอ่านผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทยผ่านการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษาด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรมการมีจิตสาธารณะและการมีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์..มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. 02-613-3030
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit