สวทน. ปั้นเด็กม.ต้น ส่ง “โครงการพัฒนาทักษะ STEM เชื่อมโยงเส้นทางอาชีพ”

21 Dec 2015
สวทน. ปั้นเด็กม.ต้น ส่ง "โครงการพัฒนาทักษะ STEM เชื่อมโยงเส้นทางอาชีพ"นำร่องภาคเหนือโชว์ทอผ้าไหม ปั่นฝ้ายในงานมหกรรมวิทย์ 2558
สวทน. ปั้นเด็กม.ต้น ส่ง “โครงการพัฒนาทักษะ STEM เชื่อมโยงเส้นทางอาชีพ”

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ขยายผลแนวคิดการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก "โครงการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีทีเชื่อมโยงเส้นทางอาชีพ" แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในอนาคต ประยุกต์ใช้การเรียนรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ผ่านการฝึกทักษะในการประกอบอาชีพโดยเอกชนร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เตรียมแรงงานทักษะฝีมือที่นำศาสตร์ความรู้ด้าน STEM มาประยุกต์และแก้ปัญหาพร้อมทั้งเสริมทักษะการทำงานให้เป็นมืออาชีพตั้งแต่วัยเรียน สวทน. เตรียมส่งเด็กม.ต้น โรงเรียนแม่อายวิทยาคม โชว์การฝึกปฏิบัติ STEM ผ่านการทอผ้าและปั่นฝ้าย ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 14 – 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า "โครงการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีที่เชื่อมเชื่อมโยงเส้นทางอาชีพ" มีเป้าหมายเพื่อดึงเอาภาคการผลิตและบริการในพื้นที่เข้ามาถ่ายทอดทักษะการทำงานและเชื่อมองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพเข้ากับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ให้แก่เยาวชนในกลุ่มโรงเรียนชายขอบที่มีโอกาสไม่เรียนต่อสูง เมื่อออกจากระบบการศึกษาสามารถเข้าสู่อาชีพได้ทันทีโดยเฉพาะอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น ต่อยอดให้บุคลากรเหล่านี้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีทักษะและความชำนาญในการทำงานที่เข้มแข็งสามารถตอบสนองภาคการผลิตและบริการที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตและนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาตัวเองในเส้นทางอาชีพการทำงาน สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล โดย สวทน. ได้นำร่องจัดรูปแบบการเรียนและฝึกปฏิบัติให้แก่โรงเรียนระดับมัธยมต้นในภาคเหนือ ได้แก่ โรงเรียนแม่อายวิทยาคม โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก และโรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบริษัทเอกชน คือ บริษัทเพียรกุศลไหมและฝ้าย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดห้องเรียนวิชา "การผลิตเส้นใยธรรมชาติและแฟชั่น" โดยเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่ชั้นม.1 ถึง ม.3 ในห้องเรียนดังกล่าวเด็กจะเรียนรู้และฝึกทักษะการทำงาน ผ่านกิจกรรมการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การฝึกทอ ออกแบบลายผ้า จนถึงขั้นการขายและการสร้างเครือข่ายการทำงาน โดยเชื่อมโยงกิจกรรมกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งการประยุกต์ความรู้ การแก้ปัญหางาน การสายการผลิตและการส่งต่องาน เช่น การจัดทำตารางสถิติการเจริญเติบโตของหม่อน และตัวไหม การทดสอบอุณหภูมิของน้ำในการต้มรังไหม การตรวจวิเคราะห์ดิน การฝึกการแก้ไขเครื่องมือเมื่อเกิดปัญหาจากกี่ทอผ้า เป็นต้น อาจารย์ประจำกลุ่มสาระวิชาต่างๆ ที่ได้รับการฝึกหลักสูตรการสอนโดยเฉพาะ จะใช้การฝึกทักษะการผลิตเส้นใยธรรมชาติ สอดแทรกวิชาให้กับเด็กในห้องเรียน ทำให้เด็กเข้าใจพื้นฐานวิชาสามารถเชื่อมโยงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM)เข้ากับการใช้งานจริง ควบคู่กับความสนุกในการฝึกทักษะอาชีพ สอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น การตลาด สินค้าที่เด็กผลิตได้ ยังสามารถขายเข้าสู่ตลาดท้องถิ่นได้อีกด้วย

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า โครงการนี้ ได้รับความรับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก บริษัทเพียรกุศลไหมและฝ้าย จำกัด ซึ่งนอกจากได้ร่วมออกแบบแนวทางการเรียนการสอนแล้ว ยังให้การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผ่านอุปกรณ์การผลิตกี่ทอมือดัดแปลงสำหรับให้เด็กฝึกทักษะการทอผ้า การจัดเด็กเข้าเยี่ยมชมการผลิตในโรงงานและโชว์รูมเพื่อการสร้างแรงบันดาลใจและจินตนาการ การผสมผสานวิทยาศาสตร์ และศิลปะ ให้แก่เด็กในท้องถิ่น "โครงการนำร่องพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีที่เชื่อมเชื่อมโยงเส้นทางอาชีพ" ได้นำร่องสาขาแรกคือ การผลิตเส้นใยธรรมชาติและแฟชั่น จะเป็นต้นแบบของการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นรูปธรรมของ STEM เมืองไทย อันมีแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเป็นต้นแบบของการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกด้วย