ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เปิดข้อมูลวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่องถอดรหัส เทียร์ 3 ค้ามนุษย์ของไทย: ถ้าไม่ทำในรัฐบาลนี้ ยากที่จะทำได้ในรัฐบาลหน้า

22 Dec 2015
ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เผยข้อมูลย้อนหลัง 15 ปีรายงานอันดับเทียร์ค้ามนุษย์โดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ พบประเทศไทยเป็นแหล่งหากินของขบวนการค้ามนุษย์จาก เมียนมา กัมพูชา และลาว ต่อเนื่องทุกปี น่าตกใจปี 52 หลังไทยมีกฎหมายแก้ค้ามนุษย์แต่เครือข่ายกลับโตสุด ชี้หลัง คสช. และ รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาลดลงอย่างมีนัยสำคัญแต่กังวลไม่ยั่งยืน แนะรัฐบาลและ คสช. ศึกษาตั้งองค์กรถาวร ป.ป.ม. ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ถ้าไม่ทำในรัฐบาลนี้ ยากที่จะทำได้ในรัฐบาลหน้า

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยข้อมูลรายงานการค้ามนุษย์ของประเทศไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หรือ TIP Report 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ฉบับแรกในปี 2544 ถึง ฉบับล่าสุดในปี 2558 พบประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในเทียร์ 2 ตั้งแต่แรกปี 2544 และตกมาอยู่เทียร์ 2.5 หรือเทียร์ 2 Watch List ในปี 2547 เพราะมีการขยายเครือข่ายของขบวนการค้ามนุษย์ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐาน

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า น่าตกใจคือ หลังจากประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2551 และมี กองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เกิดขึ้นแต่เครือข่ายของขบวนการค้ามนุษย์ยังคงใช้ประเทศไทยเป็นฐานขยายตัวมากที่สุดเกือบ 40 ประเทศทั่วโลกในปี 2552 ต่อมาประเทศไทยตกอันดับมาในเทียร์ 2.5 หรือ เทียร์ 2 Watch List อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 ถึง ปี 2556 และตกลงมาอยู่ในเทียร์ 3 หรือต่ำสุดที่กระทบต่อผลประโยชน์ชาติและของประชาชนทุกคนในปี 2557 และ ปี 2558 ตามแผนภาพ

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบด้วยว่า ประเทศต้นทางที่ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ประเทศไทยเป็นช่องทางหากิน คือ เมียนมา กัมพูชา ลาว อยู่ในรายงานต่อเนื่องมา 15 ปีตั้งแต่รายงานฉบับแรกจนถึงปัจจุบัน โดยระบุว่า ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ย้ายถิ่นมาทำงานในประเทศไทยและกลายเป็นแรงงานบังคับและค้าประเวณี ในขณะที่ เวียดนาม และอุซเบกีสถาน อยู่ในรายงานต่อเนื่อง 8 ปี ที่ระบุประเทศไทยเป็นประเทศปลายทางของเหยื่อค้ามนุษย์ที่เข้ามาค้าประเวณี

ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทยที่เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์โดยประเทศไทยเป็นประเทศต้นทางไปยังประเทศปลายทางจำนวนมากทั่วโลกหลายสิบประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี มอลโดวา คีร์กีซสถาน สวิตเซอร์แลนด์ ติมอร์ อินโดนีเซีย อิสราเอล แอฟริกาใต้ และสวีเดน แต่หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. เข้ามาแก้ปัญหา พบจำนวนประเทศเครือข่ายของขบวนการค้ามนุษย์ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานหากินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากปี 2552 ที่มีมากถึง 37 ประเทศ และในปี 2557 ก่อน คสช. เข้ามา มี 31 ประเทศ แต่ในปี 2558 หลังจาก คสช. และรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา รายงานการค้ามนุษย์ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานลดลงเหลือ 18 ประเทศเท่านั้นแต่ประเทศไทยก็ยังถูกจัดอันดับเทียร์ 3 จึงต้องเร่งวิเคราะห์เหตุปัจจัยและแนวทางแก้ไขดังนี้

ประการแรก นานาประเทศคู่ค้าของไทย เน้นไปที่ ผลลัพธ์ (Outcome) มากกว่า ผลผลิต (Output) ของยุทธศาสตร์ คือ "ทำไปแล้วได้อะไร มากกว่า ทำอะไรไปแล้วบ้าง" เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยทำอะไรต่างๆ ไปมากมาย เช่น ออกกฎหมายแก้ค้ามนุษย์ มีกองกำลังเฉพาะกิจ มีการบูรณาการ มีการใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ประเทศต้นทางที่ขบวนการค้ามนุษย์ส่งเหยื่อมาไทยเหมือนเดิมทุกปี และคนไทยก็ยังถูกส่งไปยังประเทศปลายทางซ้ำซากหลายประเทศ เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ขอความช่วยเหลือองค์กรต่างๆ อย่างไร้ทิศทาง เช่น หาหน่วยงานรัฐบ้าง หาสื่อมวลชนบ้าง หามูลนิธิและ NGO บ้าง แต่ละหน่วยมีมาตรฐานต่างกัน

ประการที่สอง ประเทศไทยควรดำเนินการ 3 อย่างคือ 1) คุ้มครองเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อซ้ำซาก 2) ป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อเนื่อง และ 3) ดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ตามกฎหมายที่มีอยู่โดยบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล

ประการที่สาม ควรให้การศึกษาและรณรงค์ให้เกิดความตระหนัก (awareness) และมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมต่อต้านการค้ามนุษย์ ทำให้แรงงานเกิดความปลอดภัยและได้รับค่าจ้างเป็นธรรม เน้นเหยื่อค้ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหาให้มากขึ้น

ประการที่สี่ ควรศึกษาตั้งองค์กรกลางถาวรด้านยุทธศาสตร์และปฏิบัติการหรือ ป.ป.ม. ต่อต้านการค้ามนุษย์โดยตรง ไม่ใช่ "งานฝาก" ที่ทำให้เกิดการบูรณาการเทียม พอรัฐบาลอ่อนแอปัญหาก็กลับมาอีกไม่ยั่งยืน องค์กรนี้จะดูแลคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์แบบครบวงจร ลดความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรภาคเอกชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการปล่อยให้ประเทศไทยมีปัญหาซับซ้อนยุ่งยากโดยหวังได้เงินจากต่างชาติและงบประมาณแผ่นดิน ตามแผนภาพโครงสร้างที่แนบมา หากไม่ทำในรัฐบาลนี้ ก็ยากที่จะเกิดในรัฐบาลหน้า