บุหรี่เท่ากับหะรอม

22 Dec 2015
บุหรี่เท่ากับหะรอม

สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ที่ 02/2549 เรื่อง บุหรี่ โดยระบุว่า "หลักการหนึ่งที่ศาสนาอิสลามให้การยอมรับคือ ไม่อนุญาตให้มุสลิมรับประทาน หรือ ดื่มและเสพสิ่งใด ๆ ที่จะทำให้เสียชีวิตโดยเร็วหรือช้าก็ตาม เช่น ยาพิษทุกชนิด และสิ่งที่ให้โทษหรือที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น โดยอาศัยหลักฐานจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่ว่า

"และท่านทั้งหลายอย่าทำลายชีวิตตนเอง เพราะอัลลอฮฺทรงปราณีพวกท่าน" (ซูเราะฮฺอัน-นิซาอฺ อายะห์ที่ 29) อัลเลาะห์ตรัสว่า "และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ"(บทอัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 195)"

ประกอบกับหลักฐานจากอัลหะดิษ ที่ว่า "จะต้องไม่ทำความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น"ดังนั้น อาศัยหลักการดังกล่าวเราถือว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เพราะเป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่า การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อผู้สูบและบุคคลใกล้ชิด...ประกาศ ณ วันที่ 6 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2549 ตรงกับปฏิทินอิสลามวันที่ 6 เดือน ซอฟัร ฮ.ศ. 1427

การณรงค์ไม่สบบุหรี่มีให้เห็นจนชินตาไปแล้วสำหรับประเทศไทย แต่สำหรับคนมุสลิม การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง...แต่วันนี้กลับมีหนุ่มสาวใน 3 จังหวัดชายแดน "ลุกขึ้นมา" ใช้หลักศาสนาเป็น "เครื่องมือ" ป้องปรามให้เด็กและเยาวชนในชุมชนไม่ผันตัวมาเป็น "นักสูบหน้าใหม่" ภายใต้แนวคิดว่า "บุหรี่เท่ากับหะรอม"

จากความเชื่อในอดีตของบทบัญญัติทางศาสนาที่ระบุว่า "บุหรี่สูบได้แต่หากไม่สูบก็เป็นผลดี" โดยปรับจูนความคิดและความเชื่อใหม่ที่ถูกต้องในเรื่อง การสูบบุหรี่เป็นบาปที่มุสลิมทุกคนพึงตระหนักตามหลักของศาสนาอิสลามเพราะมุสลิมทุกคนเชื่อในบาป บุญ คุณโทษ รวมถึงการมีข้อมูลอ้างอิงจากสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ได้ออกคำวินิจฉัยในทางวิชาการเมื่อปี พ.ศ.2549 ว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามเหมือนการเสพยาเสพติด

กลุ่มสลาตันรูเมาะกีตอ คือกลุ่มเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนใต้จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครองมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประกอบด้วย นายมูฮำหมัด กะอาบู นายมูฮำหมัด มามะ นายนาวี สาม่าน นางสาวซารีฟะห์ นิหลง และนางสาวซารียะห์ อาแวกาจิ ที่รวมตัวกันโครงการสานพลังต่อต้านบุหรี่ โดยมีเป้าหมายคือ ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชนตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

มูฮำหมัด มามะ และซารีฟะห์ นิหลง กล่าวว่า จากพื้นเพที่เป็นคนในพื้นที่อยู่ในชุมชนนี้มาตั้งแต่เด็ก สังเกตว่า ปัจจุบันในชุมชนมีคนสูบบุหรี่มากขึ้น และภาพที่รู้สึกสลดใจมากที่สุดคือ เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปัญหายาเสพติด โดยเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของการเสพยาเสพติดของกลุ่มวัยรุ่นในชุมชน ส่วนหนึ่งมีแรงจูงใจมาจาก "การสูบบุหรี่" นั่นเอง

ทั้งนี้ โครงการสานพลังต่อต้านบุหรี่ เป็นหนึ่งในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ด้วยการ "ปลูกฝัง" ค่านิยมเกี่ยวกับบุหรี่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายผ่านหลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลาม ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับยาเสพติด โดยระบุว่าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม โดยนำหลักการ"บุหรี่เท่ากับหะรอม" มาเป็นแนวคิดของโครงการ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยทางศาสนา ว่า การสูบบุหรี่ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) ตรงกันข้ามกับคำว่าอนุมัติ (ฮาลาล) เพราะเป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่า การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อผู้สูบ และบุคคลใกล้ชิดนั่นเอง ซึ่งคำว่า "หะรอม" เป็นคำศัพท์นิติบัญญัติอิสลาม มาจากภาษาอาหรับ หมายถึง กฎบัญญัติข้อห้ามที่มุสลิมทุกคนต้องละเว้น โครงการดังกล่าวจึงเป็นการนำหลักคำสอนของศาสนาเข้ามาอ้างอิงถึงที่มาที่ไป ประกอบการเชื่อมโยงจากการคำวินิจฉัยของนักวิชาการทางศาสนาเข้ามาถ่ายทอดด้วย เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากพิษภัยของบุหรี่

สำหรับกระบวนการเรียนรู้ที่กลุ่ม สลาตันรูเมาะกีตอ นำมาใช้รณรงค์มี 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านโทษและพิษภัยของบุหรี่ เพื่อสร้างความตระหนักถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ โดยบุหรี่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท เพราะภายในบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งในจำนวนนั้นมีสารที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม สารก่อมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคอื่นๆ 2.ด้านกฎหมาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับบุหรี่ 3.ด้านศาสนา เชิญวิทยากรหรือนักวิชาการอิสลามมาให้ความรู้แก่เยาวชน เพื่ออ้างอิงข้อมูลตามบทบัญญัติหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับบุหรี่

ด้าน มูฮำหมัด กะอาบู ระบุว่า การนำหลักคำสอนมาประยุกต์ใช้กับโครงการถือเป็นการนำข้อมูลทางวิชาการมาประกอบกับข้อมูลทางด้านสุขภาพ เพื่ออ้างอิงถึงผลร้ายของบุหรี่ทั้งต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่น ขณะเดียวกันการทำงานกับเด็กและเยาวชนในเรื่องการชี้แจงถึงผลกระทบและพิษภัยของบุหรี่เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการเปิดใจยอมรับในข้อมูลใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของศาสนา

"การทำงานในโครงการนี้ ทั้งทีมงานและผู้ช่วยทีมงานกว่า 10 คนไม่มีใครสูบบุหรี่เลย ซึ่งปัญหาการสูบบุหรี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนจริงๆ จากชีวิตประจำวัน ที่ชุมชนมุสลิมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เด็กและเยาวชนจึงเห็นพฤติกรรมแบบนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ส่วนการเลือกเป้าหมายเด็กในช่วงอายุวัยประถมเพราะวัยนี้จะเปิดรับข้อมูลได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ อีกอย่างหากเราปลูกฝังเรื่องการสูบบุหรี่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีกับเด็ก พอโตขึ้นเขาจะรู้สึกละอายใจ หากเขาคิดจะสูบบุหรี่เพราะเขาเคยรณรงค์เรื่องนี้มาก่อน สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่จะทำให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงค์มากขึ้น"

แม้วันนี้โครงการสานพลังต่อต้านบุหรี่จะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่การสานต่อยังคงดำเนินต่อไปด้วยแรงขับของเด็กและเยาวชนในชุมชนตะลุโบะในโรงเรียนตาดีกาของชุมชน ที่ตระหนักถึงบทบาทของพลเมืองในการต่อต้านยาเสพติด โดยหวังผลลัพธ์เพียงการมีสุขภาพที่ดีขึ้นของคนในชุมชนในรุ่นต่อๆ ไป โดยเชื่อว่าการที่พลเมืองของประเทศสนใจการปฏิรูปแนวคิดและทัศนคติในเรื่องสุขภาพควบคู่ไปกับหลักคำสอนของศาสนา คือจุดเปลี่ยนเล็กๆ ในชุมชนตะลุโบะ ในการสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ที่อาจจะเกี่ยวโยงไปถึงยาเสพติดอาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจสำหรับการปรับทัศนคติหรือแนวคิดของเยาวชนรุ่นใหม่ในการจัดการความรู้เพื่อเปลี่ยนผ่าน อันจะนำไปสู่แนวคิดในการเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

บุหรี่เท่ากับหะรอม บุหรี่เท่ากับหะรอม