บีโอไอจะใช้โอกาสนี้ชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน เช่น การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น และภายในงาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Thailand's New Economic Polices" เน้นย้ำถึงนโยบายเดินหน้าปฎิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านมาตรการต่างๆ การกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และการเชิญชวนให้นักลงทุนจีนร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับนักลงทุนไทย เพื่อรองรับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์สำคัญที่กำลังเติบโต และเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในอนาคต
ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจและการลงทุนไทยและจีน มีความสัมพันธ์ในลักษณะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจร่วมกันมานาน และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการลงทุนจากประเทศไทยไปจีน และการลงทุนจากจีนในประเทศไทย ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีบริษัทจีนขนาดใหญ่ และเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนแล้ว ทั้งกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ และยางล้อรถยนต์ เช่น บริษัทรถยนต์ SAIC (Shanghai Automotive Industry Corporation) ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ MG บริษัท เซ็นจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลิงหลง ยางรถยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหางโจว จงเช่อ รับเบอร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่น บริษัท ทรินา โซลาร์ ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ บริษัทโจงลี่ เทลซัน โซลาร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตแผงโซลาเซลล์ เป็นต้น
"บีโอไอให้ความสำคัญกับการลงทุนระหว่างไทยและจีนอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่บีโอไอเปิดสำนักงานในจีนถึง 3 แห่ง ทั้งที่ปักกิ่ง กวางโจว และเซี่ยงไฮ้ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถกระตุ้นให้บริษัทขนาดใหญ่ของจีนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ตามยังมีกิจการที่เป็นเป้าหมายที่บีโอไอตั้งเป้าที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากจีนมายังไทยอีกมาก เช่น กิจการกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์และชิ้นส่วน รถไฟและรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ขนส่งระบบราง กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงกิจการซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง โดยมั่นใจว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีน รวมถึงความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ จะก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนร่วมกันเพิ่มขึ้นต่อไป" นางหิรัญญา กล่าว
นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนของจีนในประเทศไทย ตั้งแต่เดือน มกราคม-ตุลาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 45 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 12,165 ล้านบาท โดยจัดอยู่ในลำดับที่ 4 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทย รองจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การผลิตยางล้อรถยนต์ กิจการผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนโลหะ กิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะ กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับการจัดสัมมนา Thai-Chinese Business Forum 2015 เป็นหนึ่งกิจกรรมในโอกาสครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน โดยภายในงานสัมมนาครั้งนี้ จะประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ บีโอไอ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมให้ข้อมูลที่น่าสนใจตามยุทธศาสตร์และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างไทย-จีนในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit