นางอริยา เจริญสุข รองคณบดีฝ่ายการศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลและที่ปรึกษามูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า เสียงดนตรีเป็นเสมือนเสียงธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา เพราะอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดและผูกพันกับเรามายาวนาน ทั้งเพลงปลุกใจที่โรงเรียนตอนเช้า เพลงกล่อมนอนจากเครื่องเล่นเพลง หรือแม้แต่เสียงกล่อมจากแม่ก็คือเสียงดนตรี เมื่อคนเราเกิดความเครียดแล้วได้ยินเสียงดนตรี หรือเสียงเพลงทำให้เราจะรู้สึกผ่านคลาย สบายใจ หลายคนเลือกที่จะฟังเพลงในขณะผักผ่อน หรือต้องการความสงบ คลายความตึงเครียด ดนตรีจึงเป็นสื่อหนึ่งที่มนุษย์นึกถึง เมื่ออยากให้รู้สึกสดชื่นหรือสบายใจ
จากเสน่ห์ของเสียงดนตรีทำให้เกิดโครงการคอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา เพื่อเป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการกิจกรรมดนตรีต่างๆ ที่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้จัดทำขึ้น อาทิ โครงการดนตรีเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน โครงการปลูกดอกไม้ในดวงใจ โครงการจุดประกายด้วยเสียงดนตรีเพื่อสร้างลานดนตรีให้เยาวชนชายในสถานพินิจ โครงการพัฒนาวงดนตรีต้นแบบนำร่องเพื่อเด็กและเยาวชน และโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา โดยนำกลุ่มเด็กและเยาวชนในโครงการดังกล่าวข้างต้นขึ้นแสดงบนเวทีคอนเสิร์ตภายใต้ชื่อ คอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคม ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความสามารถ พัฒนาศักยภาพ เป็นแรงจูงใจ และจุดประกายทางความคิดให้กับเด็กและเยาวชนได้รู้ถึงคุณค่าของตนเอง ผ่านการทำกิจกรรมทางดนตรีร่วมกับผู้อื่น ความสำเร็จจากคอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา ทั้ง 6 ครั้ง ไม่ได้แค่สร้างแรงบันดาลใจหรือจุดประกายให้กับเด็กและเยาวชนที่ร่วมแสดงเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เยาวชนและบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ปกครองมีความประทับใจและอิ่มเอมใจทุกครั้งที่ได้ชม
ซึ่งคอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา ครั้งที่ 7 ยังเป็นการแสดงดนตรีของกลุ่มเด็กและเยาวชนต่างๆ ได้แก่ เยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายสิรินธร ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านอุเบกขา ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชายบ้านมุทิตา โรงเรียนวัดสุวรรณาราม โรงเรียนวัดมะเกลือ (กาญจนลักษณ์) โรงเรียนวัดปากบึง โรงเรียนวัดบางบอน โรงเรียนวัดลาดทราย โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ และวง ดร.แซ็กแชมเบอร์ออร์เคสตร้า ทั้งนี้บทเพลงที่ใช้ในการแสดงล้วนเป็นบทเพลงที่มีความหมายที่ดีให้กำลังใจและมองเห็นคุณค่าของตนเอง นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากคุณธชย ประทุมวรรณ หรือ เก่ง เดอะวอยซ์ (The Voice) แขกรับเชิญพิเศษที่จะมาขับกล่อมบทเพลงอันไพเราะ พร้อมครูผู้สอน เยาวชนทุกคน และวง ดร.แซ็กเชมเบอร์ออร์เคสตร้า
น้องนิค (นามสมมุติ) จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก หนึ่งในเยาวชนโครงการจุดประกายด้วยเสียงดนตรีเพื่อสร้างลานดนตรีให้เยาวชนชายในสถานพินิจ เด็กหนุ่มผู้เคยหลงผิดก้าวข้ามฝันร้ายด้วยการใช้ดนตรีกล่อมเกลาจิตใจ ผู้แสดงกีตาร์เพลงชะตาชีวิต กล่าวว่า ผมเคยคิดว่าผมเป็นคนหัวไม่ดี เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ อยู่ไปก็เป็นภาระพ่อแม่ สร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวและคนรอบข้าง ทำให้ผมไม่สนใจการเรียน ติดเพื่อน และเที่ยวเตร่มาตลอด ผลจากความคึกคะนองทำให้ผมทำเรื่องที่ผิดพลาดและต้องเข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนา วันนั้นผมเจ็บแค้นที่ต้องเข้ามาอยู่ในนี้ แต่พอได้เข้ามาแล้วครูและผู้ดูแลทุกคน ดูแลเราดีมาก ให้ความรักและใส่ใจเราอย่างดี และพอโครงการของมูลนิธิฯ เข้ามา ยิ่งทำให้เราได้ทำกิจกรรมที่เรารัก ผมได้เล่นกีตาร์ที่ผมถนัดและทำได้ดีขึ้น ผมเชื่อครูผู้สอนและขอบคุณที่เปิดเวทีที่พวกเราไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะได้มายืนตรงนี้ มาเล่นดนตรีให้ผู้ชมฟัง ขอบคุณที่มอบโอกาสดีๆ ให้กับเรา หลังปีใหม่ผมก็จะพ้นโทษแล้ว ผมจะกลับไปอยู่กับครอบครัว ไปดูแลแม่ให้ดีที่สุดเท่าที่ลูกผู้ชายคนหนึ่งจะทำได้
ด้าน นายบุญชู สวัสดิ์ตาล ผู้อำนวยโรงเรียนวัดสุวรรณาราม กล่าวว่า โรงเรียนวัดสุวรรณารามพาเด็กในโครงการขลุ่ยรีคอร์ดเดอร์ จำนวน 45 คน มาร่วมทำการแสดงในเพลงค้างคาวกินกล้วย เพลงอีปริก ฯลฯ ซึ่งเด็กทุกคนเป็นเด็กที่ย้ายตามพ่อแม่มาทำงานตามแคมป์ก่อสร้าง เขาโชคดีที่ได้รับโอกาสจากมูลนิธิฯ ในการเข้ามาสอนการเป่าขลุ่ยตั้งแต่ที่ยังไม่มีพื้นฐานจนถึงขนาดที่เขาอ่านโน้ตได้ หลายคนอาจมองว่าเด็กที่เล่นดนตรีจะต้องเป็นเด็กที่สมบูรณ์แบบทั้งด้านครอบครัวและการศึกษา แต่เด็กที่เข้าร่วมโครงการนั้นเราเลือกไม่ได้ และส่วนใหญ่จะมีสมาธิสั้น ผลการเรียนไม่ดี มีพฤติกรรมชอบรังแกคนรอบข้าง แต่เมื่อเรียนไปสักพักกลายเป็นเด็กที่เรียนดีขึ้น มีพฤติกรรมที่ดี มีความพร้อมที่จะเรียนต้องยอมรับว่าครูที่มาสอนเด็กใจเย็นมาก มีเทคนิคที่ดี คือเขาเอาเด็กอยู่ เขาทำให้เด็กอ่านโน้ตสากลได้ซึ่งนั่นเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดคือรุ่นพี่เขาสามารถสอบเข้าวิทยาลัยนาฏศิลป์ได้ เพราะมีการสอบอ่านโน๊ต และพอเขาทำสำเร็จผลที่ได้ตามมาคือเด็กจะมีความนิ่งมากขึ้น มีความพร้อมที่จะเรียนมากขึ้น นั่นคือซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ทุกครั้งที่เด็กได้ทำการแสดงเด็กและผู้ปกครองจะภูมิใจมาก และเราก็ภูมิใจในเด็กกลุ่มนี้มากเช่นกัน ในนามตัวแทนโรงเรียนต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิฯ เป็นอย่างสูง เพราะสิ่งที่เราได้รับมันไม่ใช่เพียงดนตรี แต่มันเป็นเรื่องของจิตใจ ความช่วยเหลือ การโอบอุ้มดูแลเด็ก ซึ่งเราเคยคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันไกลตัวเราและไม่มีทางเอื้อมถึง แต่วันนี้มูลนิธิและมหาวิทยาลัยมหิดลได้เอื้อมมือให้กับเราและช่วยเหลือจนเรามีวันนี้ได้
ด้าน นายธชย ประทุมวรรณ หรือ เก่ง เดอะวอยซ์ (The Voice) แขกรับเชิญพิเศษและศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าโครงการนี้ทำให้เราได้เห็นความสามารถและความอัจฉริยะทางดนตรีในตัวน้องๆ หลายคน ขอบคุณมูลนิธิฯ ที่มอบดนตรีให้พวกเขา เพราะดนตรีมันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบำบัดทั้งร่างกายและจิตใจ ดนตรีจะทำให้จิตใจเขามีสุนทรียะ คือ การเปลี่ยนจากความก้าวร้าวกลับทำให้เขาแสดงออกในทิศทางที่ถูกต้อง เขาอาจจะใช้ความก้าวร้าวมาใส่ในดนตรีให้เกิดสิ่งใหม่ได้ เกิดการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา ได้สร้างคำถามในใจให้กับเขา อยากเล่นดนตรี เล่นทำไม อยากร้องเพลง ร้องทำไม ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนที่เคยผิดพลาดมาแล้ว ได้แก้ตัวใหม่ โอกาสเรามีเข้ามาอยู่เสมอ ท้ายที่สุดคนที่หยิบยื่นไม่ใช่คนอื่นแต่เป็นตัวเราเองที่เลือกว่าจะเดินไปทางไหน จะเป็นคนดีคนไม่ดีจะเล่นดนตรีหรือไม่เราเลือกเอกทั้งนั้น ขอให้น้องทุกคนเป็นคนดีเริ่มต้นที่ตัวเรานะครับ
อย่างไรก็ตามคอนเสิร์ตคุณธรรมนำปัญญา ครั้งที่ 7 ยังได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ หน่วยงาน ทั้งที่สนับสนุนเงินทุนและสถานที่ในการแสดง ขอขอบคุณมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), มูลนิธิดร. จำกัด-ปราณี มงคลกุล, โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ และขอบคุณโรงเรียนวัดมะเกลือ (กาญจนลักษณ์) สำหรับสถานที่ในการจัดการซ้อมคอนเสิร์ตในครั้งนี้ นางอริยา กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit