มาวันนี้ ถึงเวลาของการพัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นวิชาที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เด็กและเยาวชนเกิดสำนึกรักบ้านเกิด รู้จักทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งจะช่วยทำให้รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ทั้งนี้การเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องไม่ใช่เพียงนักประวัติศาสตร์ ผู้มีอำนาจ หรือผู้มีชื่อเสียงเป็นผู้เขียน ผู้กำหนด แต่เกิดจากคนในท้องถิ่นที่รู้ เข้าใจ และจดจำเรื่องของท้องถิ่นตัวเองได้ดีที่สุด
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการสัมมนาวิจัยเชิงปฏิบัติการ "การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชนแบบมีส่วนร่วม" ขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๖ - ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร
"ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในการพัฒนาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่น เพราะทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ สาเหตุที่เลือกจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน มีพื้นที่ที่น่าสนใจ เป็นศูนย์กลางของการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ที่สำคัญมีสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีกระบวนการวิจัย มีคณาจารย์ และชุดความรู้ เมื่อได้ต้นแบบแล้ว จะขยายต่อไปยัง ๑๐ พื้นที่ทั่วประเทศ ณ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ฝึกคน จากนั้นจะกระจายสู่โรงเรียนต่อไป" ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน
"นับเป็นการปักหมุดที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน เป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ หล่อหลอมรวมกันเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ภาคประชาชน เพื่อพัฒนาเป็นโมเดลที่ใช้เหมือนกันทั้งประเทศ" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
การสัมมนาวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จึงระดมนักวิชาการระดับภาค ระดับประเทศ ตลอดจนคนในท้องถิ่น ได้แก่ ครู นักเรียน นิสิต ปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญา นักวิชาการ บุคลากรจากองค์กรต่าง ๆ และผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ ในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ร่วมกันคิด ช่วยกันเขียน ก่อร่างสร้างประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น
"เราสอนประวัติศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต รากต้องหยั่งลึก จึงจะเติบโตอย่างเข้มแข็ง" อาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายถึงความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์
"เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อให้สามารถแสดงมุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ ได้ จากข้อมูลวิชาการและมุมมองอันหลากหลาย สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับความเป็นภูมิภาคที่กว้างขวางมากขึ้น เป็นสากลมากขึ้น ปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงคือ เราเรียนประวัติศาสตร์เป็นชิ้น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์สากล โดยไม่สามารถเชื่อมโยงความเป็นไทยกับความเป็นสากลได้ เช่น เราเรียนประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่ไม่สามารถโยงกับประวัติศาสตร์จีนได้ ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ความรุ่งเรืองของสุโขทัยเกี่ยวข้องกับพัฒนาการในอาณาจักรใกล้เคียงกันหรือประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรมในอดีตอย่างไรบ้าง "
"ทำโปรเจคสามย่านศึกษา ให้นิสิตจุฬาฯ ได้รู้จักสามย่าน แบ่งกลุ่ม แยกกันศึกษา เก็บข้อมูล ลงพื้นที่คุยกับคนในชุมชน ครั้งหนึ่งนิสิตไปคุยกับแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ป้าเป็นเด็กสามย่าน เกิดและเติบโตที่นี่ ย้ายตลาดมา ๓ ครั้ง ปรากฏว่าป้ามีคำพูดที่โดนใจมาก คือ จุฬาฯ ทุบบ้านป้าไปสร้างตึกให้พวกหนูได้เรียนหนังสือ คำพูดแบบนี้นิสิตไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้นทุนชีวิตของพวกเขาแลกมากับความทรงจำของผู้คน แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของผู้คนถูกมองข้ามมาตลอด ถ้าไม่ลงพื้นที่ศึกษา ก็จะไม่เจอเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับผู้คน เกี่ยวกับความทรงจำ เป็นบทเรียนเล็ก ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่านิสิตต้องรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นกระบวนทัศน์ที่สำคัญมาก"
"เราคงไม่สามารถที่จะให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องท้องถิ่นทุกเรื่องเพื่อจดจำไปสอบ แต่เราเรียนรู้เพื่อที่จะเปิดมุมมองให้กว้างขวางมากขึ้น ยิ่งรู้เรื่องตัวเอง ก็จะยิ่งเห็นว่าตัวเองเป็นใคร เมื่อรู้เรื่องคนอื่นก็จะเชื่อมโยงตัวเองกับคนอื่นได้มากยิ่งขึ้น"
การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงไม่จำเป็นต้องศึกษาจากลายลักษณ์อักษรเสมอไป สามารถศึกษาจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งก็คือประวัติศาสตร์บอกเล่า
จากห้องสัมมนาใหญ่จึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นการสัมมนากลุ่มย่อย เพื่อหาความทรงจำร่วมในยุคต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในท้องถิ่นที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิด ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ด้วยความแตกต่างของคุณวุฒิ วัยวุฒิ อาชีพของผู้เข้าร่วมสัมมนา จึงก่อเกิดข้อมูล ความคิดเห็นอันหลากหลาย
อุตรดิตถ์ ชาวลับแล เป็นคนเชียงแสนอพยพมาตั้งถิ่นฐาน มีความเชื่อเรื่องผีแต่ละหมู่บ้าน นิยมนำฝาบ้านมาทำโลงศพ, ชาวน้ำปาด เป็นคนลาวอพยพมาตั้งถิ่นฐาน นับถือพญานาค ฯลฯ
พิษณุโลก ปี ๒๔๕๐ เปิดสถานีรถไฟพิษณุโลก, ปี ๒๕๔๗ เกิดแผนการสร้างสี่แยกอินโดจีน, ปี ๒๕๓๓ ชุมชนชาวแพถูกย้ายไปอยู่ที่โคกช้าง, ปี ๒๕๕๕ ชาวไททรงดำที่เคยอยู่อย่างกระจัดกระจายมีการรวมตัวกันเป็นศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมชาวไททรงดำ ฯลฯ
สุโขทัย ปี ๒๕๑๙ เกิดอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย, ปี ๒๕๓๐ สามีฝรั่งคนแรกเข้ามาอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า, ชาวอีสานอพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านด่านลานหอยและทุ่งเสลี่ยม ฯลฯ
"วันนี้ได้รู้ว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเรานี่เอง" นายจิรเวศน์ สุธีรภิญโญ นักเรียนโรงเรียนอุตรดิตถ์
"จะนำข้อมูลและกระบวนการที่ได้ไปต่อยอดในงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ของตัวเอง" นายกิตติศักดิ์ สีมูล นิสิตสาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
"การเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามารถนำไปใช้กับเด็กได้จริง เพราะเด็กคือสื่อกลางในการรวบรวมความรู้ต่าง ๆ จากท้องถิ่นของตัวเอง" นางสายปัญญา สุธีรภิญโญ อาจารย์โรงเรียนอุตรดิตถ์
"ได้เห็นความจริงใจของส่วนกลางในกาลงมาฟังเสียงของคนในท้องถิ่น เก็บข้อมูล ระดมความคิดเห็นของคนทุกช่วงวัย นับเป็นกระบวนการใหม่ มิติใหม่ที่มีคุณค่ามาก เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้เดินอย่างถูกต้อง และเป็นบรรทัดฐานในการลงพื้นที่ต่อไปในอนาคต" นายณรงค์ชัย โตอินทร์ ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดสุโขทัย
"ปกติเวลาเข้าร่วมประชุม สัมมนา พอเสร็จก็จบ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ ทำให้ได้กลับมาคิด ทบทวน เพื่อเตรียมตัวรับกับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เราจะปรับตัวอย่างไร จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ๆ อย่างไร จะทำอย่างไรให้วิถี วัฒนธรรมของไททรงดำยังคงอยู่ กระตุ้นจิตสำนึกของลูกหลานให้มีความภาคคูมิใจ พูดภาษาไททรงดำ แต่งกายแบบไททรงดำ โดยจะนำเข้าที่ประชุมของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมไททรงดำภาคเหนือตอนล่าง และคิดว่าการสัมมนาครั้งนี้ครั้งเดียวยังไม่พอ ต้องระดมข้อมูล ความคิดของผู้รู้อีกมาก" นางดอกรัก วันทรรศน์ ประธานศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไททรงดำ ต.บ่อทอง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
จากการสัมมนาครั้งนี้ นักวิชาการและนักวิจัยยอมรับว่าอาจต้องจัดการสัมมนา พูดคุยกันอีกหลายครั้ง ก่อนเข้าสู่กระบวนการสกัด กลั่นกรอง ถอดบทเรียน เพื่อให้ได้เนื้อแท้ของประวัติศาสตร์แต่ละท้องถิ่น ก่อนพัฒนาเป็นต้นแบบหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อให้วิชาประวัติศาสตร์มีคุณค่าต่อคนไทยและประเทศชาติอย่างแท้จริง