พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ารายได้หลักของไทยสองส่วนหลักที่โลกมุสลิม หรือตลาดฮาลาล มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญคือการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยปี2557 การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 29,580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6จากปี 2556 ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่า 20,476 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในส่วนของการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยไปยังกลุ่ม OIC ในปี 2557 มีจำนวน5,095 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยทั้งหมด มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 จากปี 2556 แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของตลาดฮาลาลสำหรับประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศ OIC เป็นอันดับที่ 12 ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้แก่อินโดนีเซีย (อยู่ในอันดับที่ 7) และมาเลยเซีย (อยู่ในอันดับที่ 11) ซึ่งตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจและการค้าฮาลาลของรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะก้าวขึ้นสู่อันดับที่หนึ่งภายในปี พ.ศ.2562
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานการจัดงาน "Thailand Halal Assembly 2015" กล่าวว่า "หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจากการจัดงานThailand Halal Assembly เมื่อปีก่อน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย จึงร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ ขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ในชื่องาน "Thailand Halal Assembly 2015" เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมและนวัตกรรมฮาลาล เพื่อเศรษฐกิจฮาลาล เศรษฐกิจไทยรุ่งเรือง พร้อมทั้งศักยภาพของกิจการฮาลาลประเทศ ไทย ให้ประชาคมโลกได้รับรู้"
โดยภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการดิจิตอลวิทยาศาสตร์ฮาลาล, นิทรรศการจำลองห้องปฏิบัติการ,การจับคู่เจรจาทางธุรกิจฮาลาล รูปแบบใหม่, การประชุมองค์กรรับรองฮาลาลนานาชาติ, งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมและธุรกิจ ครั้งที่ 8 (HASIB 8th), การเสวนาในหัวข้อต่างๆ โดยนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศยุโรปอื่นๆ, การแสดงศิลปวัฒนธรรมมุสลิมอีกมากมาย และงานแสดงสินค้า Halal Expo ซึ่งได้รวบรวมสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 200 บูท ทั้งในเอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกา ให้ผู้ร่วมงานได้เลือกซื้อ ต่อยอดตลาดโลกอาหารฮาลาลที่เดิมสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา ให้มียอดการส่งออกที่สูงขึ้นต่อไปพร้อมไฮไลท์พิเศษ คือ การเปิดตัวฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาลใช้ชื่อว่า H4E หรือ Halal Number for E Numberเป็นการเพิ่มฐานข้อมูล Halal number เพื่อเป็นช่องทางในการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่ต้องการวัตถุดิบฮาลาล
งานครั้งนี้ยังมุ่งหวังที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเรื่องฮาลาล ให้ฮาลาลเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทย อีกทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์การพัฒนางานด้านวิจัย เทคโนโลยี และงานด้านนวัตกรรม สร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและมาตรฐานสินค้าฮาลาลของประเทศไทย ให้สมกับ Thailand Diamond Halal เป็นที่หนึ่งในโลก เพราะเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงแล้วฮาลาลไม่ใช่เฉพาะอาหาร ผลิตภัณฑ์หรือบริการ สำหรับมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของมวลมนุษย์ทุกคน ทั้งนี้เพราะผลิตภัณฑ์ฮาลาล นอกจากถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติแล้ว ยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย อันมีผลทำให้ผู้บริโภคได้ผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการที่ดีที่สุด ถ้าพูดถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลในภาวะการณ์ปัจจุบัน มีส่วนในการยกระดับผลิตภัณฑ์โดยรวมของประเทศ ซึ่งจากตรงจุดนี้เอง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้จัดโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมขึ้น ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนี้ถึง 4,000 ราย แสดงให้เห็นว่าการผลิตสินค้าที่มีตรารับรองมาตรฐานฮาลาลถือเป็นสิ่งสำคัญ ในปัจจุบันที่ผู้บริโภคต้องการ และยังเป็นโอกาสดีในการเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศ เป็นแหล่งรายได้สำคัญทางเศรษฐกิจทั้งเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยวอีกด้วยรศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit