ดร.นพ.สุวิช กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เดินทางท่องเที่ยวและเดินทางระหว่างประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและภาวะสุขภาพของผู้เดินทาง เช่น โรคติดต่อที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัญหาด้านสุขอนามัย สุขภาพประจำตัวของผู้เดินทาง และ อุบัติเหตุต่างๆ จากข้อมูลขององค์การท่องเที่ยวโลกแห่งประชาชาติ คาดการณ์ว่าอีก5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2563) จะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศกว่า 1,600 ล้านคน สำหรับประเทศไทยหากมีการเติบโตของนักท่องเที่ยวตามคาดการณ์จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 41.5 ล้านคน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในประเทศกำลังพัฒนา พบว่ามีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และอุบัติเหตุ ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคและภัยสุขภาพที่สามารถบริหารจัดการและป้องกันได้สำหรับการจัดตั้งคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยว มีหลักในการดำเนินงานดังนี้ 1.ให้คำแนะนำและประเมินความเสี่ยง ก่อน ระหว่าง และหลังการเดินทาง 2.สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน 3.เฝ้าระวังทางระบาดวิทยาและการสอบสวนโรคด้านเวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยว 4.พัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเดินทาง 5.พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยว 6.พัฒนาเครือข่ายประสานงานการร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งด้านวิชาการ การป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพให้กับนักท่องเที่ยวและนักเดินทางระหว่างประเทศ 7.การวิจัย 8.การประเมินผลคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานตามแนวทางกรมควบคุมโรค
คำแนะนำสำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวและผู้เดินทางระหว่างประเทศผู้เดินทางควรมีการวางแผน รับคำแนะนำรวมถึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและภัยอันตรายที่อยู่ปลายทาง และเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านร่างกาย อุปกรณ์ส่วนตัวและยารักษาโรคจะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือภัยอันตรายลดน้อยลง อย่างไรก็ตามการเตรียมตัวแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเดินทาง จุดมุ่งหมาย จำนวนคนที่เดินทางไปด้วย ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญ ซึ่งแพทย์จะใช้ในการประกอบพิจารณาเพื่อแนะนำการปฏิบัติตนในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422