เตือนระวังภัยหนาว …จากพิษภัยแมลงก้นกระดก

07 Jan 2016
รศ. นพ. นภดล นพคุณ
เตือนระวังภัยหนาว …จากพิษภัยแมลงก้นกระดก

นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

ในช่วงฤดูฝน ต้นฤดูหนาวในแต่ละปี แมลงก้นกระดก หรือที่เรียกว่า "ด้วงก้นกระดก" จะพบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตามพื้นที่ป่าเขา ตามบ้านเรือนทั่วไป แมลงชนิดนี้ เมื่อโดนแล้วจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อนและมีผื่นแดงตามผิวหนัง จนมีข่าวแพร่ไปในสังคม online ว่าเป็นแมลงอันตรายเป็นพิษ กัดทำให้ตาบอด เสียชีวิตได้ ซึ่งความจริงแล้ว ผื่นที่เกิดจากแมลงชนิดนี้ ไม่ได้เกิดจากการที่มันกัดหรือต่อย แต่เกิดจากการที่ไปโดนแล้วบี้ทำให้สารเคมีในตัวที่ชื่อว่าpaederin ทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสไหม้มักแป็นรอยแปลก ๆ ตามที่มือไปสัมผัส อาจเป็นเส้นเป็นทางทำให้คิดว่าเป็นงูสวัดหรือเริม บางครั้งพบลักษณะเฉพาะของโรคนี้ คือ kissing lesion คือถ้าเป็นที่ข้อพับจะเกิดผื่นที่เหมือนกันในด้านตรงข้าม ส่วนใหญ่มักโดนเวลากลางคืน แต่จะไม่เกิดอาการ มารู้ตัวก็มีผื่นแดงแล้ว จึงเกิดอาการทำให้มือที่สัมผัสไปโดนบริเวณอื่นแล้วทำให้เกิดอาการหลายตำแหน่งได้

ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยจึงขอฝากเตือนประชาชนทั่วไปว่าให้ระมัดระวังจากแมลงชนิดนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่นิยมเที่ยวป่าเขา หรือพักตามรีสอร์ท กางเต้นท์นอน ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โรคผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก ชนิดนี้ไม่ได้เป็นโรคใหม่ ซึ่งมีการค้นพบในประเทศไทยหลายสิบปีแล้ว แต่ก่อนนี้มักพบบ่อยตามชานเมืองที่มีหนองน้ำ แต่ปัจจุบันพบบ่อยขึ้นทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯและในทุกฤดูกาล ส่วนต่างประเทศมีรายงานการระบาด เช่น ไต้หวัน อินเดีย อาฟริกา แต่ยังไม่เคยมีการรายงานว่าถึงแก่ชีวิตมารู้จักแมลงชนิดนี้กันดีกว่า

แมลงก้นกระดก หรือ ด้วงก้นกระดก หรือ แมลงเฟรชชี่ (มักจะเจอช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Paederus Fucipes เป็นแมลงขนาดเล็ก ประมาณ 7-8 มม. ส่วนหัวมีสีดำ ปีกน้ำเงินเข้มขนาดเล็ก และส่วนท้องมีสีส้ม ชอบงอส่วนท้ายกระดกขึ้นลง ทำให้ได้ชื่อว่าแมลงก้นกระดก เป็นแมลงที่พบเฉพาะในเขตร้อนชื้น โดยมากอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ใกล้หนองน้ำ ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน ทำให้พบว่ามันจะลอดมุ้งลวดเข้ามาได้

สำหรับการป้องกันเมื่อโดนแมลงหรือเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือใช้แอมโมเนียทาบริเวณที่โดนแมลงจะลดอาการแสบร้อนได้ ถ้าผื่นเป็นน้อย ๆ จะหายไปเองได้ แต่ถ้ามีการติดเชื้อแทรกซ้อนต้องให้ยาปฎิชีวนะทาหรือรับประทานด้วย การป้องกันถ้ามีแมลงมาเกาะพยายามอย่าตบ บดขยี้บนลงผิวหนังให้ปัดออกหรือกำจัดโดยวิธีอื่น หรือถ้าจะจับออกให้ใช้เทปกาวติดตัวแมลงออกมา แมลงชนิดนี้ชอบไฟในเวลากลางคืน ดังนั้นไม่ควรเปิดไฟแรงสูงทิ้งไว้เพราะแสงไฟจะล่อแมลงเข้ามา จากการทดลองพบว่าแมลงจะชอบเข้ามาถ้าใช้แสงไฟนีออนหรือหลอดไฟที่มีแรงเทียนสูงกว่า 40 วัตต์ ดังนั้นประตูหน้าต่างควรบุด้วยมุ้งลวดที่มีความถี่มาก ๆ เพื่อให้แมลงเข้ามาไม่ได้ ถ้าไม่แน่ใจว่าโดนแมลงหรือไม่ แต่แสบ ๆ ร้อน ๆ ให้ ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่รู้สึกแสบด้วยน้ำเปล่า หมั่นทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน บ้านมองหาตามผนังและเพดานใกล้หลอดไฟ ก่อนใส่เสื้อผ้าควรสะบัดให้แน่ใจว่าไม่มีแมลงติดอยู่ อย่าเปิดไฟนอน และควรปิดประตูหรือหน้าต่างให้ดีก่อนที่จะเข้านอน

จะเห็นว่าแมลงชนิดนี้ไม่ได้อันตราย กัดต่อยแล้วถึงกับชีวิต แต่ สามารทำให้ผิวหนังไหม้พองได้ ดังนั้นควรป้องกันไว้ก่อนจะดีที่สุด

เตือนระวังภัยหนาว …จากพิษภัยแมลงก้นกระดก