บอร์ด SMEs อัดฉีดงบเพิ่มขีดความสามารถ SME 1,977.645 ล้านบาท

07 Jan 2016
บอร์ด SMEs เห็นชอบตั้งอนุกรรมการบริหาร สสว. พร้อมอนุมัติงบประมาณปี 2559 กว่า 1,977.645 ล้านบาท เดินหน้างานบูรณาการส่งเสริม SMEs ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ วิทยาศาสตร์ฯ เล็งตั้งศูนย์บริการ OSS สสว. ในภูมิภาค 31 แห่ง และตั้งร้านค้าประชารัฐ 148 แห่งทั่วประเทศ เชื่อมั่นจะสร้างประโยชน์สู่ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มทั่วประเทศให้แข้มแข็ง

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ โดยการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมฯ มีมติให้ความเห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนของสสว. จำนวน 1,977.645 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เพื่อบูรณาการงานส่งเสริม SMEs ของประเทศให้เติบโตได้ตามศัยภาพ โดยจัดสรรเงินกองทุนออกเป็น 6 ส่วน ประกอบด้วย

1. จัดสรรเงินกองทุน 437.17 ล้านบาท ให้กับ 3 กระทรวงดำเนินงาน 9 โครงการ ประกอบด้วย1) กระทรวงอุตสาหกรรม งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ SMEs สู่ตลาดโลก โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนและโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

2) กระทรวงพาณิชย์ งบประมาณ 187.17 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสร้างนักการค้ามืออาชีพ โครงการกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ : สร้างโอกาส SME ไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุน และโครงการแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก 3) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี งบประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนา SME สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ระยะต่อเนื่อง โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ และโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

2. จัดสรรเงินกองทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนพลิกฟื้นSME โดยให้ สสว. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ SMEs และธุรกิจการเกษตรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่ง สสว. จะคัดเลือกจากลูกค้าธนาคารของรัฐ ซึ่งมีปัญหาในการจ่ายชำระหนี้ แต่มีความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาที่จะทำกิจการต่อไป หรือ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งส่งงบการเงินให้กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ และมียอดขายลดลงค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3 ปี โดยวินิจฉัยเชิงลึกเป็นรายกิจการเพื่อหาประเด็นที่จำเป็นต้องปรับปรุง ทั้งในด้านการผลิต และการจำหน่าย และหาก SMEs รายใด มีความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจต่อไป และยังมีศักยภาพเพียงพอ สสว. จะประสานงานกับเจ้าหนี้เดิมเพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในกรณีที่ SMEs ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำเป็นต้องได้รับสภาพคล่องเพิ่ม สสว. จะพิจารณา ให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว. เป็นเงินกู้ระยะยาว ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย

3. จัดสรรเงินกองทุน 200 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) โดยบูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง ซึ่งมีศูนย์บ่มเพาะ 35 ศูนย์กระจายกันอยู่ทั่วประเทศในทุกสาขาอาชีพ เช่น เกษตรแปรรูป ออกแบบ งานด้านวิศวกรรม ฯลฯ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการใหม่ และนักธุรกิจที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการใหม่ ตั้งเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการใหม่ 3-4 หมื่นราย

4. จัดสรรเงินกองทุน 200 ล้านบาท ดำเนินโครงการส่งเสริม SME ที่ทำกิจการอยู่แล้วให้เติบโตได้ยิ่งขึ้น (SME Strong/Regular) โดย สสว. จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าวินิจฉัยในเชิงลึกเป็นรายกิจการและหาทางช่วยปรับปรุงการผลิต การให้บริการ และการจำหน่าย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินในกรณีที่ SMEs ต้องการปรับปรุงหรือขยายกิจการ โดยมีเป้าหมาย 10,000 ราย ภายในปี 2559

5. จัดสรรเงินกองทุน 40.475 ล้านบาท ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ให้บริการครบวงจร (SME One-stop Service Center : OSS) เพิ่มอีก 20แห่ง รวมเป็น 31 แห่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนสาขาของสสว. คือ ให้คำปรึกษาแนะนำด้านธุรกิจแก่ SMEs เป็นตัวกลางประสานระหว่าง SMEsกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดูแล SMEs ที่ได้รับการส่งเสริมจากสสว.โดยตรงและจากหน่วยงานร่วมของ สสว. ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการติดต่อและให้ข้อมูลรวมทั้งสร้าง Net work ในเขตพื้นที่

6. จัดสรรเงินกองทุน 100 ล้านบาท ดำเนินโครงการประชารัฐเพื่อวิสาหกิจชุมชน จัดตั้งร้านค้าประชารัฐ จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตสินค้า OTOP และวิสาหกิจชุมชนให้มีที่ขายสินค้าถาวร รวมทั้งปรับมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนการสร้างร้านค้าประชารัฐ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สนับสนุนพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. โดยไม่คิดค่าเช่า กรมการพัฒนาชุมชน และ สสว. ร่วมกันคัดสรรสินค้าจาก OTOP และวิสาหกิจชุมชน โดยปรับมาตรฐานและรับรองคุณภาพสินค้า รวมทั้งช่วยดูแลการบริหารจัดการของร้านค้าประชารัฐ เช่นการจัดหาบุคลากร และการขนส่งสินค้า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ช่วยสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ชุมชนที่ส่งสินค้ามาขาย ตั้งเป้าหมายให้ชุมชนสามารถบริหารร้านค้าประชารัฐได้ด้วยตนเองภายในเวลา 3 ปี และสามารถยกระดับวิสาหกิจชุมชนขึ้นเป็นผู้ประกอบการ SMEs คาดว่า โครงการดังกล่าวจะเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2559 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้การปฏิบัติงานของสสว. เป็นไปด้วยความคล่องตัว โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานอนุกรรมการบริหาร