"พลังเด็ก" ความหวังของสังคมไทย

08 Jan 2016
"พลังเด็ก" ความหวังของสังคมไทย

"เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต"

คือคำขวัญวันเด็กที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ไว้เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2559 ซึ่ง "คำขวัญ" ก็คือ "ความคาดหวัง" ที่ผู้ใหญ่ ที่ไม่ใช่เฉพาะนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่อยากเห็นเด็กๆ หรือลูกหลานเป็น "เด็กดี มีความขยันหมั่นเพียร เป็นคนใฝ่เรียนรู้ เพื่อที่จะพาประเทศก้าวสู่อนาคตที่สวยงาม"

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เด็ก ๆ จะเป็นคนดี ใฝ่เรียนรู้ มีความขยันหมั่นเพียร ได้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ "ผู้ใหญ่" ต้องเปิดพื้นที่ และให้โอกาสเด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาเช่นกัน

เพราะ "เด็ก" จะลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพตนเองได้นั้น ต้องมีผู้ใหญ่หนุนหลัง ให้คำแนะนำ กระทั่งบางจังหวะต้องคอย "กระตุ้น" เพื่อให้เด็กได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเต็มขีดความสามารถ

แต่ทั้งหมดต้องมาจากฐานความเชื่อที่ว่า "เด็กพัฒนาได้"

พลังเด็กเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก

"เพราะเชื่อว่า เด็กทุกคนพัฒนาได้" ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.) จังหวัดสมุทรสงครามในฐานะผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก จึงใช้รูปแบบ community project เป็น "เครื่องมือ" พัฒนาศักยภาพเด็กๆ และเยาวชนในพื้นภาคตะวันตกที่ประกอบด้วยจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี

"แต่เดิมเราสนับสนุนกระบวนการทำงานวิจัยซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพคน เพื่อให้คนได้ติดอาวุธทางปัญญาและกลับไปพัฒนาพื้นที่ของตนเอง...ซึ่งในการทำงานวิจัยที่ผ่านมาก็มีกลุ่มน้องๆ เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเช่นเดียวกัน"

แต่ข้อจำกัดของงานวิจัยคือเป็นโครงการที่ "ผู้ใหญ่คิด" และเด็กเป็นผู้ช่วยอยู่ในทีม เพราะฉะนั้นอาจจะยังไม่เห็นสิ่งทีเป็นความต้องการของเด็ก ๆ จริง ๆ

ขณะที่ระบบการศึกษา "พาเด็กไปเรียนรู้เรื่องราวไกลตัวของพวกเขามากเกินไป การเรียนรู้จึงไม่สนุก" ดังนั้นโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกจึงเป็น "เครื่องมือ" ที่ดึงให้เด็กได้มาเรียนรู้ท้องถิ่น ให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และรู้ว่าเขาจะอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร

และเมื่อเด็ก "เข้าใจ" การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เด็กก็จะเข้าใจและสามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงนั้นโดยดึงฐานทรัพยากร ภูมิปัญญา วัฒนธรรมเดิมกลับมารับใช้ในการเปลี่ยนแปลงได้...

เช่น เรื่องนาเกลือซึ่งเป็นอาชีพดังเดิมของพ่อแม่ปูย่า ตายาย ของคนสมุทรสงคราม เมื่อเด็กสงสัยว่าทำไมเดี่ยวนี้คนทำนาเกลือน้อยลง พวกเขาก็ลงไปศึกษาหาสาเหตุ ซึ่งกระบวนการศึกษาก็เป็นลักษณะเดียวกับงานวิจัยคือการเก็บข้อมูล จดบันทึก นำมาวิเคราะห์ สุดท้ายจึงนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบกิจกรรมในการแก้ไขปัญหา

"สำหรับที่นาเกลือ เด็ก ๆ พยายามเพิ่มมูลค่าให้กับเกลือด้วยการไปแปรรูปทำเกลือสปา ประสานร้านค้าในพื้นที่เรื่องการทำตลาด และหาสปอนเซอร์ด้วยตัวของพวกเขาเอง"

นี่คือตัวอย่างของจังหวัดและภูมิภาคตะวันตกที่ได้ริเริ่มสร้างพลเมืองคุณภาพของจังหวัดตนเอง โดยการร่วมกันของพลเมืองผู้ใหญ่จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งท้องถิ่น ภาครัฐ ประชาสังคม ประชาชน โดยมีพี่เลี้ยง (Coach) เป็นกลไกสำคัญในการเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการร่วมแก้ปัญหาจากโจทย์จริงของชุมชน เกิดทักษะ และสำนึกพลเมือง โดยมีครู ผู้ปกครอง หรือผู้นำชุมชน ร่วมกันสนับสนุน

สงขลาเริ่มส่องแสง

เมื่อหาดทรายที่เคยขาวสะอาดและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ค่อย ๆ หมดความงดงามลง แม้ใครจะไม่สังเกตเห็น แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็อยู่ในสายตาของ "น้ำนิ่ง" อภิศักดิ์ ทัศนีย์ แกนนำเยาวชน Beach for life ที่ไม่อยากให้หาดทรายบริเวณหาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ต้องทรุดโทรมย่ำแย่ไปมากกว่านี้

พวกเขารวมตัวกันปกป้องหาด บางกลุ่มทำข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจให้ชุมชนว่าวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้โครงสร้างแข็งมาป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งนั้นไม่ใช้แนวทางที่ถูกต้องนัก ขณะที่อีกกลุ่มหันไปศึกษาเรื่องตัวบทกฏหมาย เพื่อที่จะหาลู่ทางให้เยาวชน หรือ ชาวบ้านเข้ามามีส่วนในการจัดการทรัพยากรมากกว่ากรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ

แต่สิ่งที่น้ำนิ่งและเยาวชนคนอื่น ๆ อีกนับร้อยคนจะไม่สามารถดำเนินงานได้เลยหากปราศจากองค์กรหนุนหลังอย่าง "สงขลาฟอรั่ม" องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาศักยภาพเยาวชนมานานกว่า 2 ทศวรรษ

พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า โครงการพลังเยาวชนพลเมืองสงขลาเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตและสร้างจิตสำนึกพลเมือง Active Citizen ให้แก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยผ่านกระบวนการ Coaching ตั้งแต่เริ่มต้นเสนอโครงการไปจนถึงพัฒนาเป็นโครงการที่สมบูรณ์

"โครงการฯ เปิดโอกาสให้เยาวชนมีพื้นที่การเรียนรู้จากประเด็น สภาพปัญหาที่สนใจ คิดและลงมือปฏิบัติจริง โดยร่วมมือกันทำงานเป็นทีม มีส่วนร่วมกับชุมชน เชื่อมโยงกับเรื่องจริง สถานการณ์จริง จนเกิดจิตสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง"

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่มอธิบายว่า กระบวนการหนุนกลุ่มเยาวชน มีขั้นตอนการดำเนินงานหลัก ๆ คือ ขั้นพัฒนาโครงการของเยาวชนด้วยวิธีกลั่นกรองจากมุมมองหลายมิติ โดยมีกรรมผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็นมาช่วยกันแสดงทัศนะ แสดงความเห็นเพื่อให้เด็ก ๆ มีความเข้าใจ หรือ กระจ่างชัดในโครงการที่ต้องการทำมากขึ้น เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็น Ngo ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้รู้ด้านกฎหมาย เป็นต้น

และเมื่อเด็ก ๆ เข้าใจเป้าหมายของโครงงานที่ตัวเองอยากทำ ขั้นตอนต่อมาก็เข้าสู่ "กระบวนการ Coaching" ซึ่งเด็ก ๆ ก็ลงมือปฏิบัติจริง แต่ในระหว่างการดำเนินงานจะมี "พี่เลี้ยง" หรือ "โค้ช" ที่มีบทบาทสำคัญในการฝังเรื่องทักษะชีวิต เช่นเรื่องของการคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ คิดสร้างสรรค์ ตัดสินใจและเชื่อมโยง ตระหนักรู้ในตน มีความเห็นใจผู้อื่น สามารถจัดการอารมณ์และความเครียด มีความสามารถด้านการสื่อสาร มีความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตสำนึกพลเมือง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของทีม เป็นต้น

"พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา" ที่วันนี้ไม่เพียงแต่ส่องแสง "สำนึกพลเมือง" สู่สาธารณชนให้เป็นที่ประจักษ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นต้นแบบของ "พลเมืองเยาวชน" ที่เข้มแข็งซึ่งเปี่ยมไปด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่น ในการอนุรักษ์และพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยสำนึก "พลเมืองที่รับผิดชอบ" ต่อสังคม

ซึ่งจากกระบวนการดังกล่าวพบว่า เป็นการทำงานที่คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อสังคม และจะมีการขยายผลเป็นหลักสูตรในการพัฒนาเยาวชนสู่ความเป็นพลเมืองต่อไป

เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ

"จังหวัดศรีสะเกษกำลังเสี่ยงต่อการสูญหายไปของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และภาษา หากคนรุ่นใหม่ไม่เข้ามารับช่วงต่องานจากผู้ใหญ่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชุมชนในอนาคต เพราะหากเยาวชนไม่เข้าใจรากเหง้าเดิม เวลามาพัฒนาชุมชนก็จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างผิวเผิน"

รุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ก่อนที่จะเริ่มต้นชักชวนภาคีและเครือข่ายที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนากลุ่มเด็กรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจเรื่องราวที่เป็นรากเหง้าของตนเอง

เรียกได้ว่า "เป็นการเป็นการเตรียมเด็กให้เชื่อมต่องานกับผู้ใหญ่ในการดูแลบ้านเกิดตัวเอง" ผลของการทำโครงการหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้เราเห็นพลังของพลเมืองรุ่นใหม่ของจังหวัดศรีสะเกษที่จะรับช่วงต่องานจากผู้ใหญ่ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.การสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะสูญหาย 2.การเรียนรู้วิถีชีวิตการหาอยู่หากินบนฐานทรัพยากร และ 3.การทำโครงการจิตอาสาเพื่อชุมชน

ทั้งนี้ที่ศรีษะเกษเพิ่งผ่าน "การจัดเทศกาลแห่งการเรียนรู้" หรือ Learning Festival ที่นำผลงานของเด็ก ๆ มานำเสนอต่อสาธารณะ และในงานนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ใหญ่โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็ว่า "เยาชนพลเมืองศรีษะเกษ" คือหนึ่งความหวังที่จะรับช่วงต่อในการดูแล และรักษาเมืองแห่งนี้

ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด

"น่านมีต้นทุนทางสังคมหลายอย่างทั้งด้านประเพณีวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การแต่งกาย ภาษา ปราชญ์ชุมชน ฯลฯ และที่สำคัญคือฐานทุนของกลุ่มเยาวชน แต่วันนี้เยาวชนน่านถูกสังคมใหม่ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ความทันสมัยที่ดึงเยาวชนออกจากวิถีชีวิตแบบเดิม ในขณะที่น่านมีวิกฤติในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การเสื่อมถอยของวัฒนธรรม หากเราสามารถดึงเยาวชนเหล่านี้กลับมาให้สำนึกรักบ้านเกิด สำนึกรักถิ่นฐานชุมชนของตนเองได้คิดว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก" พระครูสุจิณนันทกิจ หรือ พระอาจารย์สมคิด จารณธัมโม ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน อธิบายถึงสถานการณ์ของเยาวชนเมืองน่าน และสถานการณ์ทางสังคมที่เด็ก ๆ อาศัยอยู่

ด้วยเหตุและสถานการณ์ข้างต้น พระอาจารย์สมคิด จึงร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล และสสส. ทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน เพราะมองเห็นว่ากระบวนการต่างๆ ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าไปเติมเต็มให้กับเยาวชน ส่งผลให้เยาวชนได้ปรับเปลี่ยน "วิธีคิด" ทำให้มีมุมมองใหม่ว่าปัญหาทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คนในพื้นที่ต้องเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งหลังทำโครงการนี้อาตมาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนที่ชัดเจนเรื่องเกิดความสำนึกรักบ้านเกิดมากขึ้น

อย่างไรก็จาม หลังเด็ก ๆ ทำโครงการจบลง พระอาจารย์สมคิด และผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดจึงร่วมกันจัดกิจกรรม "พลังสร้างสรรค์ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด" เพื่อให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่แสดงความสามารถของตนเองให้ผู้ใหญ่หรือคนในสังคมได้รับรู้ว่าเยาวชนน่าน ณ วันนี้ พร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับทุกภาคส่วน

ท้ายสุดพระอาจารย์สมคิดทิ้งท้ายว่า อยากจะให้เด็ก เยาวชน ได้มีส่วนร่วมสร้างมุมมองว่าน่านวันข้างหน้าควรจะเป็นแบบไหน สุดท้ายพวกเขาจะได้เป็น "แกนนำ" ที่มาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้น่านของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น...

"พลังเด็ก" ความหวังของสังคมไทย

ทุกวันนี้ทั้ง สงขลา สมุทรสงคราม ศรีสะเกษ และน่าน ต่าง "ค้นพบ" แนวทางในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ นั่นคือการเปิดโอกาส และเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงพลังอย่างเต็มที่ผ่านการทำโครงการต่างๆ ที่เริ่มขยายผลออกจากเด็กกลุ่มแรก ๆ ไปเป็นกลุ่มที่ 2 3 และ 4 และจะขยายออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่ที่สิ้นสุด

และนอกจากจะขยายผลในเชิง "ปริมาณ" แล้ว งาน "เชิงประเด็น" เช่น งานด้านสิ่งแวดล้อม งานด้านวัฒนธรรม หลายพื้นที่เริ่มมองงานอาชีพว่าจะต่อยอด พัฒนา และเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร ขณะที่บางกลุ่มให้ความสนใจเรื่องราวของงานด้านสิทธิของความเป็นพลเมืองสิ่งที่เกิดขึ้น...นอกจากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็ก กล่าวคือ มีความเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เข้าใจที่มาและสาเหตุของปัญหา รู้จักกระบวนการทำงานเป็นทีม เคารพการตัดสินใจของเพื่อนในทีม (กระบวนการประชาธิปไตย) กิจกรรมของน้อง ๆ เยาวชนยังเกาะเกี่ยวหน่วยงานในพื้นที่รวมทั้งผู้ใหญ่ในพื้นที่ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานพวกเขา

เมื่อเด็ก ๆ ลุกขึ้นมา "ทำเรื่องดี ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างโปร่งใส" คำถามต่อมาคือ "ผู้ใหญ่" จะวางรากฐานสังคมที่พวกเขาจะรับไม้ต่ออย่างไร

ที่จะทำให้ "เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต"

"พลังเด็ก" ความหวังของสังคมไทย "พลังเด็ก" ความหวังของสังคมไทย "พลังเด็ก" ความหวังของสังคมไทย