วธ.ผุดแผนปฏิรูปงานวัฒนธรรม 3 ระยะ ตั้งเป้า 20 ปีขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม สร้างเข้มแข็งพัฒนาคน สังคม-เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

14 Jan 2016
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านวัฒนธรรม ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติการและประเด็นภารกิจสำคัญสำหรับส่งต่อให้รัฐบาลต่อไปตามกรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ขณะนี้ในเบื้องต้น วธ. จัดทำร่างกรอบการปฏิรูปด้านวัฒนธรรม เป็น 3 ระยะแล้วเสร็จ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2559-2560) อาทิ ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาเพื่อปลูกฝังจิตสำนักเยาวชนด้านคุณธรรม ศาสนา และวัฒนธรรม ระยะที่ 2 (พ.ศ.2560-2570) อาทิ พัฒนาแหล่งศิลปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติ และระยะที่ 3 (พ.ศ.2570-2579) อาทิ ไทยเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมของอาเซียน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำร่างกรอบปฏิรูปดังกล่าวไปพิจารณาในรายละเอียดเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการประชุมครั้งต่อไป โดยการดำเนินการปฏิรูประยะที่ 1 จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2560 เพื่อส่งมอบให้รัฐบาลต่อไป

นายวีระ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างโรดแมปการปฏิรูปงานวัฒนธรรม 20 ปี ภายใต้รากฐานสำคัญของการพัฒนาคน สังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายให้คนไทยและสังคมไทยมีความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรม สามารถใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ รวมทั้งขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงให้ประเทศจากการต่อยอดมรดกและภูมิปัญญาไทยให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ตลอดจนบริหารจัดการวัฒนธรรมให้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของไทยบนเวทีโลก โดยกำหนดไว้ 7 ด้าน ได้แก่ 1.ส่งเสริมความเป็นไทย เสริมสร้างภาพลักษณ์ไทยในต่างประเทศ และนำความเป็นไทยสู่สากล ทั้งการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ จัดเทศกาลไทยในต่างประเทศ เป็นต้น 2.พัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จัดประเพณีเทศกาล ถนนสายวัฒนธรรม ตลาดนัดศิลปะ เป็นต้น 3. สร้างคุณธรรม จริยธรรมของคนไทยและสังคมไทย โดยปลูกฝังผ่านสถาบันสังคมทุกระดับ สร้างผู้นำและต้นแบบที่ดี และพัฒนามาตรฐานคุณธรรม 4. เปิดพื้นที่การแสดงออกและส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมของประชาชน เริ่มจากพัฒนาแหล่งเรียนรู้และบริการสาธารณะทางวัฒนธรรม พัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยสู่พื้นที่นานาชาติ กระจายอำนาจจัดการสู่ท้องถิ่น และส่งเสริมศิลปิน ปราชญ์ และภาคประชาชน5. พัฒนาการเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษา การสร้างกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ และจัดประกวดแข่งขัน 6.สร้างความเป็นไทยสู่ใจประชาชน สู่อาเซียนและสังคมโลก รวมทั้งเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจจากฐานวัฒนธรรม และ7.ทำให้คนไทยมีจิตสำนึกและพฤติกรรมการนิยมไทย ภาพลักษณ์ไทยและวัฒนธรรมไทยเผยแพร่สู่สากล และรายได้ทางเศรษฐกิจจากฐานวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะจัดทำโรดแมปการปฏิรูปงานวัฒนธรรม 20 ปีให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไปในทิศทางเดียวกันในทุกๆ ด้าน