เรียกได้ว่าใครไปงานนี้ครบทั้ง ช็อป ชิม ชิลด์ แถมได้เกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับอาหารทะเลที่ผู้บริโภคไม่เคยรู้มาก่อน พร้อมเปิดตัวมาตรฐานอาหารทะเลพื้นบ้าน Blue Brand Standard มาตรฐานอาหารทะเลประมงพื้นบ้านปลอดภัย สด สะอาด ไร้สารพิษ
ในวงเสวนา "คนกินปลา vs คนจับปลา" ณัฐพงศ์ เทียนดี พ่อหมอเจาะข่าวตื้นแห่ง SpokedarkTVกับ ตุ๊ก ชนกวนันท์ รักชีพ ตัวแทนคนกินชอบกินปลาและอาหารทะเลมากๆ แข่งกันตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะ "เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารทะเลที่กิน สะอาดและปลอดภัยจริงๆ" หลังจากที่ได้รู้ว่าอาหารทะเลทั่วไปตามตลาดและห้างสรรพสินค้า เต็มไปด้วยสารฟอร์มาลินเพื่อยืดอายุให้ของสดเสมอ
"เวลาปลาขึ้นมาเป็นพันสองพันกิโลกรัม พ่อค้าคนกลางจะคัดเลือกไซส์และใช้เวลาชั่งน้ำหนักปลานาน ระหว่างรอมันจะทำให้ปลาไม่สด ชาวประมงก็ต้องดองปลาด้วยฟอร์มาลีนตั้งแต่ในเรือ แพปลาใหญ่ๆ ทำอย่างนี้เหมือนกันหมด เพราะถ้ามาถึงตลาดกลาง ปลาคุณไม่สด หรือไม่สวย จะโดนตีกลับทั้งคันเลย" จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้านจากร้านคนจับปลา ประจวบคีรีขันธ์ ให้ข้อมูลแต่ถ้าผู้บริโภคซื้อจากชาวประมงโดยตรง ที่ใช้วิธีการจับแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และรวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ "ร้านคนจับปลา" โดยชาวประมงลงหุ้นร่วมกัน ร่วมด้วย สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและสมาคมรักษ์ทะเลไทย 60% เพื่อส่งตรงอาหารทะเลสู่ผู้บริโภคให้เร็วที่สุด คือ เอาขึ้นจากเรือ ทำความสะอาด แล้วแช่แข็ง เพียง 1 วัน ก็ส่งถึงมือผู้บริโภค
"ซื้อตรงกับชาวประมงเองก็ดี จริงๆ แล้ว ตั้งแต่กินปลา ไม่เคยเจอ ไม่เคยรู้จักหน้าคนจับปลา ถ้าเรารู้จักหน้าคนจับปลา เราก็จะกินปลาอย่างเชื่อถือ เชื่อใจ สบายใจได้จริง" ณัฐพงศ์ หรือพ่อหมอเจาะข่าวตื้น คุยในวงเสวนาเพื่อยืนยันความสดจริง ปลอดภัยจริง ร้านคนจับปลาจาก 4 พื้นที่ คือ ประจวบคีรีขันธ์,นครศรีธรรมราช, สตูล และทะเลสาบสงขลา จึงนำอาหารทะเลทั้งสดและแปรรูปมาจำหน่ายในงาน ได้รับความสนใจจากคอซีฟู้ดกันอย่างล้นหลาม จนพื้นที่จัดงาน Root garden ทองหล่อซอย3 เล็กลงไปถนัดตา นอกเหนือจากความสด สะอาด และปลอดฟอร์มาลีนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ คือ มาตรฐานอาหารทะเลประมงพื้นบ้าน Blue Brand Standard
"Blue Brand Standard จะช่วยยืนยันได้ใน 4 เรื่อง คือ ความยั่งยืนของชุมชนประมงพื้นบ้าน ไม่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้เครื่องประมงที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อสุขภาพเพราะมีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ" วีระพงษ์ ประภา ผู้ประสานงานภาคเอกชน องค์การอ็อกแฟม แห่งประเทศไทย ที่อยู่เบื้องหลังมาตรฐานสีฟ้า อธิบาย โดยคาดการณ์ว่า ภายใน 3-5 ปี ตลาดประมงทั่วประเทศ จะมีปริมาณผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน Blue Brand ร้อยละ 10
ด้าน เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้จัดการร้านคนจับปลา เผยว่า ร้านคนจับปลาทำตามมาตรฐานทั้ง4 ข้อของ Blue Brand ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้กับประมงพื้นบ้านในเขตพื้นที่ใดๆ ก็ได้ โดยใช้ตลอดทั้งสายพานตั้งแต่บนเรือจนถึงขึ้นฝั่ง หากต้องการใช้แบรนด์ร้านคนจับปลา ก็จะมีกติกาของร้านคนจับปลา หรือต้องการสร้าง Blue Brand ของตัวเองก็ได้เช่นเดียวกัน"เพื่อเป็นการจัดการวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านด้วยตัวเอง ผ่านการพิสูจน์และยืนระยะอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ ต้องซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ทำ" เสาวลักษณ์ ทิ้งท้าย