นางบุบผา ภู่ละออ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการจัดเวทีระดมความคิดเห็น (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตรฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จังหวัดระยอง ซึ่งจากการสัมมนามีประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ผู้เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็น ดังนี้
ด้านนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster) ของรัฐบาล ที่เน้นเรื่องของพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมและเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยในพื้นที่ รวมถึงการเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบ การจ้างงาน SMEs ในพื้นที่เหล่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของ Super Cluster ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ Food Innovation Medical Hub
ดังนั้น Super Cluster จึงเป็นประเด็นหนึ่งในการระดมความคิดเห็นครั้งนี้อย่างมาก เนื่องจากต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ศึกษาการทำ Super Cluster ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของภาคตะวันออกในเรื่องของสารพิษตกค้าง โดยอีกมุมมองหนึ่งเห็นว่าควรทำ Super Cluster ในภาคการเกษตรด้วย เพื่อสนับสนุน Super Cluster ในภาคอุตสาหกรรม เช่น Super Cluster ยางพารา สนับสนุน Super Cluster ยานยนต์ เป็นต้น รวมทั้งความรู้ด้านการตลาด Demand และ Supply เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิต อีกทั้ง ภาครัฐควรมีการปรับปรุงพัฒนาข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ และมีศูนย์วิจัยทางธุรกิจการเกษตรชี้นำและให้ข้อมูลเรื่องการตลาดแก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะตลาดสินค้าฮาลาลซึ่งเป็นตลาดใหญ่ควรเพิ่มยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารฮาลาลในแผนพัฒนาการเกษตรฯ
นอกจากนี้ เกษตรกรได้เสนอแนวทางการพัฒนาอาชีพการเกษตรให้มีความมั่นคง ในการนำนวัตกรรม มาประกอบกับภูมิปัญญาของเกษตรกร เช่น การวิจัยดิน ปรับปรุงพันธุ์ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การสร้างเครือข่ายสถาบันการเกษตร การรวมกลุ่มสหกรณ์ ส่งเสริมสหกรณ์ให้มีศักยภาพ เช่นการจัดตั้งสหกรณ์อเนกประสงค์ สนับสนุนโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ รวมไปถึงการสนับสนุนเงินทุนปลอดดอกเบี้ยและการซื้อปัจจัยการผลิต รวมถึงด้านปัญหาแหล่งน้ำทางการเกษตร ที่ต้องการให้ตั้งยุทธศาสตร์เรื่องน้ำเป็นหัวข้อใหญ่ภายใต้แผนพัฒนาฯ ทั้งการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ การก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร และปัญหาแรงงานภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเยาวชนศึกษาด้านการเกษตรลดลง ตลอดจนเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาด้านการเกษตร ที่ควรเน้นส่งเสริมวิธีคิดและการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นต้นแบบที่เห็นได้ชัดเจน และควรใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตและวิธีการปฏิบัติตามความเหมาะสมของพื้นที่
ทั้งนี้ ข้อสรุปของทุกภาคส่วนได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำให้แผนงานในครั้งนี้ นับเป็นการสะท้อนปัญหาและมีข้อเสนอแนะจากพื้นที่โดยตรง ที่ถือเป็นกรอบแนวทางภาพรวมที่จะมีผลในทางปฏิบัติต่อไป ซึ่ง สศก. ได้มีการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อแผนพัฒนาการเกษตรฯ ฉบับที่ 12 จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวม 12 ครั้งทั่วประเทศ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit