นายไพรัช ใหม่ชมพู ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงใหม่ และ เลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษามีองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากถึง 99 องค์กรที่เข้ามาทำงานร่วมกันด้วยใจ โดยมีปณิธานร่วมกันในการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้วางแผนการทำงานไว้ 4 ปี คือ 2559-2562 เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นทั้งจังหวัดภายใต้แนวคิด "พลเมืองเชียงใหม่รักษ์วัฒนธรรม ทันการเปลี่ยนแปลง แสวงสัมมาชีพ" โดยขณะนี้ได้จัดทำแผนการดำเนินงานและหลักสูตรรักษ์เชียงใหม่ขึ้นมา มีการสำรวจแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในชุมชนจาก 2,066 หมู่บ้านเพื่อให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้ ออกไปสัมผัสชีวิตจริง และเรียนกับความจริง โดยช่วงปลายปีนี้ก็จะเชิญหน่วยงานด้านการศึกษา ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และสถานศึกษาอีกว่า 1,700 แห่ง เข้ามาดูแผนงานเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานและเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัด
"โดยเฉพาะหลักสูตรรักษ์เชียงใหม่ที่เกิดจากคณะทำงานกว่า 62 คนจากทุกภาคส่วนในจังหวัด จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน ที่เปลี่ยนจากการเรียนรู้จากตำราในห้องเรียน เป็นการออกไปเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ เรียนรู้จากครูภูมิปัญญาด้านต่างๆ ในชุมชน ตรงนี้เองก็จะทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ในแต่ละชุมชนมากถึง 4 หมื่นแห่งที่จะเข้ามาเสริมความเข้มแข็งของข้อมูลให้กับหลักสูตร และสถานศึกษาที่จะนำหลักสูตรนี้ไปใช้ก็จะมีการอบรมให้กับครูด้วย เพราะที่ผ่านมาเราหลงทางไปกับการจัดศึกษาและการจัดการเรียนการสอนในเรื่องราวที่ไกลตัวให้กับเด็ก เด็กของเราจึงไม่เกิดการคิดวิเคราะห์ ขาดจิตนาการ เพราะการเรียนก็เรียนอยู่แต่ในห้องเรียน ทำให้ศักยภาพของเด็กไทยสู้ประเทศอื่นในอาเซียนไม่ได้ ดังนั้นแผนการดำเนินงานของจังหวัดเชียงใหม่และหลักสูตรรักษ์เชียงใหม่ จะก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ และปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษานับจากนี้ ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนเชียงใหม่ได้รับการพัฒนาในเรื่องของความคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ที่สามารถตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาได้ในทุกเรื่อง" เลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษากล่าวสรุป