นายวีระ กล่าวต่อว่า แต่เมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ... นั้นได้มีความเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในการแก้ไขชื่อจากร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ...เป็นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ... โดยคณะกรรมาธิการฯ ให้ความเห็นว่า ภูมิปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม อีกทั้งอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Cultural Heritage) ใช้คำว่า Intangible Cultural Heritage ซึ่งแปลว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หากใน พ.ร.บ.นี้ ใช้คำว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จะทำให้เกิดความสับสนในทางปฏิบัติได้ ซึ่งต้องอธิบายคำจำกัดความและเงื่อนไขการใช้คำดังกล่าวอีก
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการฯ จึงได้สอบถามความเห็นมายัง สวธ.อีกครั้ง ดังนั้น สวธ.จึงนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุม กวช. พิจารณาและให้ข้อเสนอแนะว่า ควรใช้คำใด ซึ่งที่ประชุมได้ระดมความเห็นและแสดงความคิดเห็น โดยคณะกรรมการ กวช. ส่วนใหญ่เห็นว่าควรใช้คำว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพราะมีความหมายตรงตัว เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความ เหมาะสมกับปัจจุบัน ประชาชนเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน จึงมีมติให้ใช้คำว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แทนคำว่า Intangible Cultural Heritage และสนับสนุนให้แก้ไขชื่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ... เป็น ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ... ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ สวธ. จะดำเนินการทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับความเห็นของที่ประชุม กวช. เรื่องการแก้ไขชื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯต่อไป