กระทรวงเกษตรฯ ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ผลิตภัณฑ์ประมงไทยในสหรัฐฯ และแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่มีประสิทธิภาพ หวังพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมงไทยให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานตามความต้องการของตลาด พร้อมเสริมสร้างศักยภาพด้านส่งออก

19 Nov 2015
นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ฝ่ายการเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ผลิตภัณฑ์ประมงไทยในสหรัฐอเมริกา และแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานะและความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ประมงที่นำเข้ามาจากไทยในตลาดสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ประมงที่นำเข้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในด้านปัญหาและอุปสรรค เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมงไทยให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานตามความต้องการของตลาด รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพด้านการส่งออกด้วย

นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้ศึกษาสถานะผลิตภัณฑ์ประมงที่นำเข้าจากไทยมายังสหรัฐฯ โดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม เอกวาดอร์ แคนาดา และจีน ซึ่งจากการวิเคราะห์ในช่วงระยะเวลาปี 2554 - 2558 พบว่า ไทยยังคงเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เนื่องจากยังคงประสบปัญหาโรคกุ้ง EMS แม้ว่าขณะนี้จะอยู่ระยะฟื้นตัว แต่ผลผลิตที่ได้ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการส่งออก ส่งผลให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าจากไทย และหันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งแทน ขณะที่ในด้านความได้เปรียบ ไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกหลักรายใหญ่ที่สุดของโลกสำหรับผลิตภัณฑ์ประมงประเภทปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง อีกทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทเพิ่มมูลค่าจากไทยยังคงเป็นที่นิยมของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ เนื่องจากไทยมีการผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล

ในการศึกษาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค เพื่อให้ทราบถึงสถานะของผลิตภัณฑ์ประมงไทยและศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ พบว่า อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ประมงส่งออกของไทยมีจุดแข็งด้านฝีมือแรงงานในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงและผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทเพิ่มมูลค่า ขณะที่จุดอ่อนและอุปสรรคของไทยยังคงเป็นการแก้ปัญหาโรคกุ้ง EMS ส่วนด้านปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมง และปัญหาจากผลลัพธ์จากการจัดลำดับให้รัฐบาลไทยคงอยู่ในลำดับ Tier3 ในด้านความร่วมมือต่อต้านสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นั้น การศึกษาวิจัย พบว่า ไทยยังคงมีโอกาสเนื่องจากผู้นำเข้าในสหรัฐฯ บางส่วนยังคงให้ความไว้วางใจนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมง โดยเฉพาะประเภทเพิ่มมูลค่าจากไทย ซึ่งนับว่าไทยยังมีศักยภาพในการผลิตดีกว่าประเทศอื่น

จากการศึกษาวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า โอกาสและศักยภาพของไทยในด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ประมงส่งออกในตลาดสหรัฐฯ ยังคงมีความเป็นไปได้ แต่อาจเสียเปรียบประเทศคู่แข่งขัน อาทิ ศักยภาพด้านการผลิต ค่าจ้างแรงงานและต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ประกอบกับตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง

"ปัจจุบันภาครัฐได้เร่งรัดมาตรการแก้ไขปัญหาโรคกุ้ง EMS อย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพจากต่างประเทศเพื่อผลิตลูกกุ้งให้กับเกษตรกร การให้บริการตรวจคัดกรองโรคกุ้ง การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อฟื้นฟูแหล่งเลี้ยง ซึ่งขณะนี้พบว่า อัตราการตายที่เกิดจากโรค EMS ลดลง แต่ผลผลิตยังไม่เพิ่มสูงมากนัก เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับต่ำ จึงชะลอการเลี้ยง เพื่อดูสถานการณ์ด้านราคา ขณะที่การตรวจสอบย้อนกลับของไทยมีมาตรฐานที่สูงกว่าคู่แข่ง โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่โรงเพาะฟัก บ่อเลี้ยง รวมทั้งโรงงาน ตลอดกระบวนการผลิต ส่วนด้านแรงงานได้จัดทำแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง และโรงงานแปรรูปเบื้องต้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้สนับสนุนให้เกิดการเจรจากับตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ของสหรัฐฯ ในด้านการยอมรับการรับรองมาตรฐานต่างๆ และการออกเครื่องหมายรับรองจากกรมประมงไทย ตลอดทั้งสนับสนุนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ประมงในด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ประมงที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดด้วย" นายศักดิ์ชัย กล่าว