การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิด ความเห็น และข้อเสนอแนะ จากผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนา และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ที่มีต่อกรอบแนวทางในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เพื่อนำข้อเสนอแนะ ความคิดและความเห็นที่ได้จากการประชุมสัมมนาไปพิจารณาปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติมในรายงานการวิจัยให้มีความครบถ้วนและสอดคล้องกับความต้องการของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส และให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนที่เสนอรายงานการวิจัยต่อสำนักงาน กสทช. ต่อไปการสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการแทนผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กทปส. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนา ระดมความคิดเห็น ผ่านการวิพากษ์กรอบแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี โดยในภาคเช้า ได้รับเกียรติจาก นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งกรุงเทพมหานคร และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านคนพิการทางการได้ยิน นายชาตวิทย์ มงคลแสน รองประธานศูนย์วุฒิอาสาธนาคารสมองนนทบุรี นายกสมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย และที่ปรึกษาชมรม ICT for All ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านผู้สูงอายุ นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านผู้ด้อยโอกาส เป็นวิทยากรผู้อภิปรายนำ ส่วนภาคบ่าย ได้รับเกียรติจาก พันตรี ศิริชัย ทรัพย์ศิริ นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) นายกิติพงษ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา และมี นายนุกูล สัญฐิติเสรี นักวิจัยหลัก เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
นอกจากนี้ ในงานสัมมนาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้เสนอภาพกิจกรรมและการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมด เรียงตามเทคนิคการวิจัยที่ใช้คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่กิจกรรมการสัมภาษณ์ การสัมมนาระดมความคิดเห็น การสานเสวนา 4 ครั้ง ได้แก่ (1) กลุ่มคนพิการ (2) กลุ่มผู้สูงอายุ (3) กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและ(4)กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม การประชุมกลุ่มเจาะจง และการประชุมเชิงปฏิบัติการ 5 ครั้ง 5 ภูมิภาคๆ รวมทั้งผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 17 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 และประเมินผลการดำเนินงานของอาสาสมัครแกนนำที่มีทักษะในการสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสด้วยกันเอง ให้สามารถเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ตามโครงการนี้
ในการรับฟังความคิด ความเห็น และข้อเสนอแนะ ในครั้งนี้คณะผู้วิจัยได้มอบกรอบแนวทางดังกล่าวให้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ได้ไปพิจารณาก่อนในเบื้องต้นเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ในมุมมองและมิติต่างๆ ก่อน และขอความกรุณาผู้ทรงคุณวุฒิในการเสนอมิติและมุมมองที่ต่อยอดเพิ่มเติมหรือมีความเห็นต่าง เพื่อเป็นการเปิดประเด็น และสำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านอื่น ๆ คณะผู้วิจัยได้ขอความกรุณาทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการสัมมนาในวันนี้ด้วยการบันทึกความคิด ความเห็น และข้อเสนอแนะจากความรู้ ประสบการณ์ หรือเกิดมีขึ้นในกระบวนการต่างๆ ส่งให้กับคณะผู้วิจัย และขอให้มีการนำเสนอด้วยวาจาด้วย ซึ่งก็ได้รับความกรุณาเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้การสัมมนาวันนี้ได้ผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์
อนึ่ง ในการประชุมสัมมนาดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) และสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ได้ร่วมจัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงาน หนังสือเสียง (Daisy) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาได้ทราบการดำเนินงานหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะผู้วิจัยขอขอบพระคุณหน่วยงาน องค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องมา ณ โอกาสนี้ด้วย
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคมได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า "ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี (Convergence Technology Media Era : CTME)" อันหมายถึงการเกิดสื่อใหม่ (New Media) ที่มีการหลอมรวมเทคโนโลยี เช่น สื่อสังคม (Social Media) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า สื่อออนไลน์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์ ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในด้านการสื่อสาร จากคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผลให้จำนวนผู้ใช้สื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งผู้ใช้ก็มีเสรีภาพสูงในการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบการใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ดังกล่าว ผ่านช่องทางการสื่อสารโทรคมนาคมที่หลากหลาย
กล่าวโดยนัย "ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี (CTME)" ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ 2 อย่าง คือ การหลอมรวมเทคโนโลยี (Convergence Technology) ทำให้เกิดมีอุปกรณ์ดิจิทัลใหม่ๆ (New Devices) ที่มีความสามารถฉลาดมากขึ้น และในขณะเดียวกันทำให้เกิดมีการหลอมรวมสื่อ (Convergence Media) ทำให้เกิดสื่อใหม่ (New Media) เกิดขึ้น ที่มีการเข้าถึงเนื้อหาตามความต้องการ ทุกที่ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลป้อนกลับของผู้ใช้ที่โต้ตอบระหว่างกัน การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และการรวมตัวเป็นชุมชนที่แวดล้อมเนื้อหาสื่อนั้น ผ่านทาง "สื่อสังคม" (Social Media) หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสื่อกลางที่ให้บุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมสร้างและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้
ในส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กสทช. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ การบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation: USO) ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงในพื้นที่ชนบท พื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ พื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ให้บริการหรือมีแต่ไม่ทั่วถึงหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่สังคม และบริการเพื่อสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนพิการ เด็ก คนชรา ผู้ด้อยโอกาสในสังคม และผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ เพื่อลดช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน (Digital Divide) ของประชาชนทั้งในมิติเชิงพื้นที่และสังคม ตามแนวคิดในการกระจายบริการให้ทั่วถึง (Availability) โดยมีอัตราค่าบริการที่เหมาะสม (Affordability) และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยสะดวก (Accessibility) ตามหลักการแนวทางการจัดให้มีบริการ USO
และในส่วนของ "กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ" (กทปส.) สำนักงาน กสทช. ก็มีหน้าที่ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 อาทิ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ เทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ดังนั้น ทางโครงการฯ จึงได้ศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึง รู้เท่า และใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งจากการวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์ การวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถาม การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยการลงพื้นที่จัดประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน ในภาพรวมก็ พบว่า ปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน ในภาพรวมมีแนวโน้มของพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพการให้บริการ การบังคับใช้กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งในมิติด้านการพัฒนาตัวบุคคลของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส (Peopleware) ที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มการได้รับการคุ้มครองและพัฒนาที่ดีขึ้น มิติด้านชุมชน (Community) ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนามากขึ้น มิติด้านฮาร์ดแวร์ (Hardware) ในการเข้าถึงสื่อใหม่ในยุคลหลอมรวมเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มของราคาที่ถูกลงและหลากหลาย มิติด้านซอฟต์แวร์/เนื้อหา (Software/Contents) ของสื่อใหม่ที่สามารถสนองตอบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการได้มากขึ้น มิติด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ICT Infrastructure) ในการเข้าถึงสื่อใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตมีความครอบคลุม แต่ยังมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย มิติด้านกฎหมายและการกำกับดูแล (Regulation) ด้านกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ไอที สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อใหม่ มีแนวโน้มของการที่ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อันเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล และมิติด้านการพัฒนาและคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Development & Protection) ด้านกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ไอที สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อใหม่ ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และบริการ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากกระแสการตื่นตัวของผู้บริโภคเองในการพิทักษ์สิทธิของตนเอง และมีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์ หรือแอพพลิเคชันที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายจากภัยคุกคาม หรือการหลอกลวงผู้บริโภคผ่านสื่อใหม่ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
คณะผู้วิจัยได้นำเอาหลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ หลักการเข้าถึง (Accessibility) และสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ได้ตามหลักการรู้สารสนเทศ หรือ "Information Literacy" ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มาตรฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส กลไกกำกับดูแลสื่อใหม่ การคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ มาเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ "สร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในยุคหลอมรวม" แก่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส
มีเป้าหมายหลัก คือ (1) คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี (2) ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ของประเทศ โดยมีเป้าหมายให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของประชากรแต่ละประเภท ภายใน 10 ปี (3) เพิ่มดัชนีการเข้าถึงดิจิทัล (Digital Opportunity Index: DOI) ของประเทศให้สูงขึ้น โดยให้ประเทศไทยมีค่าดัชนีการเข้าถึงดิจิทัล ไม่น้อยกว่าอันดับที่ 50 ของโลก ภายใน 10 ปี และ (4) เตรียมความพร้อมของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกรอบแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ประกอบด้วย 7 แนวทาง ดังนี้
1. การพัฒนากลไกกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ไอที สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อใหม่ต่างๆ ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การจัดบริการและกระจายบริการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง3. การส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนในการพัฒนาคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี
4. การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การกำกับดูแลมาตรฐานด้านฮาร์ดแวร์ การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงฮาร์ดแวร์ การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส
5. การพัฒนาซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชัน สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส
6. การพัฒนาและคุ้มครองผู้บริโภคในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี
7. การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
แนวทางการขับเคลื่อนและบริหารจัดการแนวทางการพัฒนาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม จะเน้นด้านการแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ การติดตามประเมินผล และที่สำคัญที่สุด คือ ด้านบุคคล (Peopleware) ได้แก่ ตัวบุคคลที่เป็นคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งหลายประเด็นอาจอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ กสทช. จำเป็นต้องใช้การประสานงาน หรือการส่งเสริม สนับสนุน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานเบื้องต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี และเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกับ กสทช. ในระยะต่อไป ทางโครงการโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ได้มีการสร้างอาสาสมัครสื่อสารความรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สู่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส (งานจิตอาสา) จำนวน 348 คน และมีคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้แทนหน่วยงาน/องค์กรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับบุคคลกลุ่มดังกล่าว ในระดับผู้นำองค์กร นักวิชาการ และนักวิชาการ รวมทั้งผู้แทนองค์กรด้านสื่อมวลชน เป็นสมาชิกเครือข่ายสังคมออนไลน์ของโครงการฯ ผ่าน www.facebook.com/Convergence.BTFP.Fund จำนวนประมาณ 1,997 คน (ณ วันที่ 12พฤศจิกายน พ.ศ. 2558) นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกแอพพลิเคชันไลน์ (Line) จำนวน 141 คน และสมาชิก Google+ ร่วมด้วยอีกช่องทางหนึ่ง ทั้งนี้ ทางโครงการฯ จะได้รวบรวมรายชื่อดังกล่าวข้างต้น จัดทำเป็นทำเนียบ และจัดเก็บเป็นไฟล์ข้อมูลการเชื่อมโยงตัวแทนคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ในระดับผู้นำองค์กร นักวิชาการ นักปฏิบัติจากทั่วประเทศ ส่งมอบแก่สำนักงาน กสทช. เพื่อประโยชน์ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีต่อไป
สำหรับท่านที่สนใจติดตามความก้าวหน้าของโครงการ หรือร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.convergencebtfpfund.net หรือ facebook.com/Convergence.BTFP.Fund
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit