ธรรมศาสตร์ กับ 14 บัณฑิตพิเศษใหม่แกะกล่อง ผลผลิตสะท้อนศักยภาพ “ดินแดนแห่งเสรีภาพ”และ “ความเท่าเทียม”

17 Nov 2015
มธ. เผยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ มีบัณฑิตพิเศษ 14 คน จากหลากหลายสาขาทั้งสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สะท้อนอุดมการณ์มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน มอบโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม

ความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษาเป็นสิทธิที่คนทุกคนพึงได้สอดคล้องกับปณิธานของ "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ที่ยึดมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการได้รับการศึกษาเรียนรู้อย่างเท่าเทียม โดยที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายเปิดรับนักศึกษาพิการมา 12 ปีแล้ว สามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปีนี้ มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 14 คนได้แก่

1. นางสาวภัทราวรรณ พานิชชา (ชมพู่) บัณฑิตจากคณะสังคมสงเคราะห์

2. นางสาวกมลวรรณ กระถินทอง (ปุ๊กปิ๊ก) บัณฑิตจากคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี

3. นายอรรถพล พวงขาว (เอ) บัณฑิตจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

4. นางสาวธนธรณ์วันพิมาย (นิด) บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5. นายเอกภาพ ลำดวน (เอก) บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ ฝ่ายกฎหมาย

6. นางสาวปนัดดา ศรประสิทธิ์ (เอ) บัณฑิตจากคณะสังคมสงเคราะห์

7. นายไชยพจน์ จันทร์แสน (เจ้ย) บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

8. นายวุฒิพงษ์ อธิมติชัยกุล (นก) บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์

9. นายศิรวิชญ์ ฤกษ์งาม (ลูกโซ่) บัณฑิตจากคณะเศรษฐศาสตร์

10. นายบุญรอด อารีย์วงษ์ (รอด) บัณฑิตจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

11. นางสาวธัญรัชต์ อธิจารุเดช (ลัคกี้) บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

12. นายสุนทร สุขชา บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์

13. นางสาวชนม์นิกานต์ ปันวารี บัณฑิตจากคณะสังคมสงเคราะห์

14. นางสาวดุจเดือน จันดาวรรณ บัณฑิตจากคณะสังคมสงเคราะห์

ความสำเร็จของบัณฑิตทุกคนพิสูจน์ว่า ความบกพร่องทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว หรือการรับรู้ต่างๆ ซึ่งใครหลายคนอาจอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากและเป็นอุปสรรคในดำเนินชีวิต ทั้งด้านการเรียน และการทำงาน หาใช่อุปสรรคที่จะขัดขว้างการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมไปถึงพัฒนาและต่อยอดตนเองจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ของกลุ่มคนที่มีความพิเศษเหล่านี้ได้ โดยทุกคนจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 16 – 17 พฤศจิกายน นี้ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มารู้จักเรื่องราวของบัณฑิตบางส่วนที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้

นางสาวภัทราวรรณ พานิชชา (ชมพู่) บัณฑิตสาวจากคณะสังคมสงเคราะห์ ดีกรีดาวคณะสังคมสงเคราะห์ และผู้ชนะเลิศจากเวทีประกวดMiss Wheelchair Thailand ประจำปี 2012เธอสูญเสียขาจากอุบัติเหตุเมื่ออายุ 17 ปี นับเป็นฝันร้ายของเด็กสาวในขณะนั้น แต่ต่อมาเธอก็ยอมรับได้และไม่มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต แต่เธอกลับมองว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกายเธอยังใช้งานได้ตามปกติเหมือนคนอื่น ดังนั้น ในช่วงก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอจึงค้นหาข้อมูลสาขาวิชาและสถาบันการศึกษาที่เหมาะสม คือ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่า หากจบไปแล้วจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ลำบากกว่าได้ นอกจากนี้ เธอยังมีความตั้งใจที่จะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่อยู่ในโรงพยาบาลอีกด้วย เพราะอยากช่วยทีมแพทย์ รักษาและฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชมพู่ได้ก้าวเข้าใกล้ความฝันอีกหนึ่งขั้นแล้ว จากการทำหน้าที่เป็นพิธีกรร่วมในรายการ "7 สี ช่วยชาวบ้าน" ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 รายการที่สะท้อนสังคมในแง่มุมต่างๆ พร้อมเป็นสื่อกลางประสานความช่วยกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตลอดเวลากว่า 1 เดือนที่ได้ทำตรงนี้ เธอบอกว่ารู้สึกมีความสุข และมีความตั้งใจจะทำเพื่อสังคมแบบนี้ต่อไป

นางสาวกมลวรรณ กระถินทอง (น้องปุ๊กปิ๊ก) บัณฑิตจากคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี สูญเสียขาจากอุบัติเหตุเช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเรียนที่มหาวิทยาลัยสำหรับปุ๊กปิ๊ก เธอสามารถใช้ชีวิตและเดินทางไปเรียนได้ตามปกติ ด้วยการนั่งรถวีลแชร์ไฟฟ้าจากหอพักไปยังอาคารเรียนต่างๆ ซึ่งในตอนนี้ ปุ๊กปิ๊ก ได้งานทำในตำแหน่งผู้ดูแลและจัดทำบัญชี ที่บริษัท อโกดา ประเทศไทย จำกัด มาเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว โดยเธอเล่าว่า เริ่มทำงานนี้มาตั้งแต่เรียนจบ และรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานตรงกับสาขาวิชาที่ได้เรียนมา เรียกได้ว่าคุ้มค่า

นายวุฒิพงษ์ อธิมติชัยกุล (นก) บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ถึงแม้จะประสบปัญหาการได้ยินไม่ชัดเจน ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แต่พอมีเครื่องช่วยฟัง ทำให้สะดวกขึ้นและไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ตอนนี้วุฒิพงษ์ทำงานในตำแหน่งผู้วางระบบคอมพิวเตอร์ หรือ IT Support มากว่า 1 เดือนแล้วที่ บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งส่วนตัวชอบงานในสายนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และรู้สึกเป็นตัวเองดี

นายอรรถพล พวงขาว (เอ) บัณฑิตจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน แม้ร่างกายจะประสบปัญหาในเรื่องของการเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานของเอ ที่ตอนนี้มุ่งมั่นกับการรับทำงานแบบ Freelance ในสาขาวิชาที่ตนชื่นชอบอย่างงาน Production House โดยทำงานตรงนี้มากว่า 2 ปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนเรียนจบ ได้ลองจับงานในหลายๆ รูปแบบ ทั้งผู้ช่วยผู้กำกับบ้าง ตัดต่อบ้าง ซึ่งค่อนข้างตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมาคือ วิทยุและโทรทัศน์ และรู้สึกรักในสายงานนี้มาก

นอกจากนี้ ยังมีบัณฑิตพิการอีกหลายคนที่มีศักยภาพที่โดดเด่นไม่แพ้กัน อาทิ นายเอกภาพ ลำดวน (เอก) บัณฑิตผู้พิการทางสายตาจากคณะนิติศาสตร์ ปัจจุบันทำงานด้านกฎหมาย อยู่ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับ นายสุนทร สุขชา บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ ที่ตอนนี้ทำงานด้านกฎหมายอยู่ที่ สภาคนพิการแห่งประเทศไทย นางสาวปนัดดา ศรประสิทธิ์ (เอ) บัณฑิตจากคณะสังคมสงเคราะห์ทำงานเป็นคุณครูอนุบาล ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดและพิการซ้ำซ้อน จ.ลพบุรี เนื่องจากเธอชอบทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว ประกอบกับมีรุ่นพี่ที่รู้จักชักชวนเธอไปทำงานด้วย นายไชยพจน์ จันทร์แสน (เจ้ย) บัณฑิตหนุ่มหัวใจไอทีจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ ที่ตอนนี้อยู่ในช่วงรอเรียกตัวเพื่อทำสัญญาจ้างงานกับบริษัทออกแบบเว็บไซต์ชื่อดังแห่งหนึ่ง รวมไปถึง นางสาวธนธรณ์ วันพิมาย (นิด) บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ประสบปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว โดยตอนนี้ทำงานอยู่ในส่วนของ Supply Chain อยู่ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ (สำนักงานใหญ่)

นอกจากบัณฑิตพิการที่ทำงานแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ที่มุ่งมั่นหาความรู้ในระดับที่สูงขึ้น อาทิ นายศิรวิชญ์ ฤกษ์งาม (ลูกโซ่) บัณฑิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสูญเสียแขนตั้งแต่กำเนิด กำลังมุ่งเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงรอผลสอบจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยตั้งใจทำงานในสายงานธนาคาร

นายบุญรอด อารีย์วงษ์ (รอด) บัณฑิตจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สูญเสียการทรงตัวตั้งแต่เด็กๆ และแม้ตอนนี้ยังไม่ได้ทำงานในทันที แต่ก็มองหาลู่ทางเพิ่มพูนความรู้ในสาขาวิชาที่สนใจอย่างด้านสื่อสารมวลชน เนื่องจากเป็นสิ่งที่สนใจและเรียนแล้วมีความสุข รวมไปถึง นางสาวธัญรัชต์ อธิจารุเดช (ลัคกี้) บัณฑิตสาวจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ตอนนี้ก็มุ่งเรียนต่อในระดับปริญญาโท เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมี นางสาวชนม์นิกานต์ ปันวารี และ นางสาวดุจเดือน จันดาวรรณ บัณฑิตจากคณะสังคมสงเคราะห์ที่สูญเสียการมองเห็น แต่ก็สามารถสำเร็จการศึกษาและใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาเพื่อประชาชน มีนโยบายเปิดกว้างแก่เยาวชนผู้พิการให้ได้รับการศึกษาเรียนรู้เพื่อปรับทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนพิการ พร้อมสร้างสำนึกจิตอาสาให้แก่เยาวชนและนักศึกษา พัฒนาความรู้ด้านการช่วยเหลือคนพิการ ตลอดจนช่วยพัฒนาศักยภาพของคนพิการให้ทัดเทียมกับคนทั่วไปในสังคม ผ่านอุปกรณ์การเรียนการสอน และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ อาทิ หนังสืออักษรเบรลล์ เครื่องช่วยฟัง รถไฟฟ้ารับส่งนักศึกษา ลิฟต์ ทางลาด ตลอดจนศูนย์บริการนักศึกษาพิการซึ่งทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงนักศึกษา คอยจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษาและจัดหางานให้เมื่อจบการศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. 02-564-4493