ทั้งนี้ โครงการ "วิ่งด้วยใจให้น้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก" เป็นกิจกรรมที่ร่วมสนับสนุนพันธกิจ Globe-athon ในการรณรงค์ป้องกันมะเร็งทางนรีเวช ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี สิงคโปร์ มาเลเชีย ก็ได้จัดกิจกรรมวิ่งมาราธอนเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญและวิธีการป้องกันโรคมะเร็งทางนรีเวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปากมดลูกเช่นเดียวกัน
นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า "สมาคมฯ ตระหนักดีว่า แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้ แต่ยังมีผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ การเข้าถึงวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่ทั่วถึงกลุ่มสตรีที่ควรได้รับ โดยเฉพาะวัยเรียนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่แก้ไข โอกาสของกลุ่มเด็กหญิงผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ สมาคมฯ จึงจัดทำโครงการ "วิ่งด้วยใจให้น้อง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก" ซึ่งเป็นการวิ่งมาราธอนเพื่อการกุศลเพื่อจัดหารายได้นำไปซื้อวัคซีนบริจาคให้กับเด็กหญิงบ้านราชวิถีและบ้านธัญญพร พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์สตรี ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการฉีดวัคซีน"
รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ เลขาธิการสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า "มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี โดย 90 เปอร์เซ็นต์เป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยผู้ป่วยในระยะแรกๆ จะไม่มีอาการบ่งบอกความผิดปกติ เพราะการรับเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้หลายปีก่อนจะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง การเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งหากตรวจพบแต่เนิ่นๆ ผู้ป่วยอาจได้รับการดูแลรักษาให้หายได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มีผู้หญิงไทยเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ที่เข้ารับการการตรวจคัดกรอง ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผู้ป่วยใหม่ในแต่ละปีกว่า 9,000 ราย และอัตราการเสียชีวิตก็สูงถึงประมาณ 4,500 รายต่อปี
สำหรับแนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรค รศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า "อันดับแรกเริ่มจากการลดพฤติกรรมเสี่ยงคือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งหมายถึง การไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ควบคู่ไปกับการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง อันดับที่สอง การตรวจคัดกรองมะเร็ง ซึ่งนอกจากการตรวจ Pap smear แล้ว สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารหรือห่างไกล เช่น ชาวเขา อาจจะตรวจสอบเบื้องต้นโดยการใช้น้ำส้มสายชูซึ่งสามารถให้บุคลากรทางสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการให้ได้โดยไม่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีโดยตรงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง อันดับสุดท้าย การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันที่ได้ประสิทธิภาพสูงเพราะเป็นการป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีตั้งแต่ด่านแรกคือไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย โดยสามารถฉีดให้กับเด็กผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9 ปี ขึ้นไป แต่จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดหากฉีดให้กับเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 11-12 ปี เพราะเป็นช่วงวัยที่พอเหมาะ และเด็กยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จึงยังไม่ได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวี"
นางสาวฐิติชญา แย้มศิริ พนักงานเอกชน ที่เข้าร่วมวิ่งมาราธอนในครั้งนี้ กล่าวว่า "ทุกวันนี้ การดูแลรักษาสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกคนพึงปฏิบัติ ซึ่งแต่ละคนสามารถเข้าถึงการดูแลตัวเองและป้องกันโรคได้มากน้อยแตกต่างกันไป โครงการนี้จึงเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ ที่จะช่วยเหลือน้องๆ ที่มีโอกาสน้อยกว่าเราให้ได้รับการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมกิจกรรม เพราะไม่เคยวิ่งมาราธอน 10 กิโลเมตรมาก่อน และนอกเหนือจากที่เราได้ออกกำลังกายเพื่อตัวเราเองแล้ว ยังรู้สึกสุขใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือน้องๆ ด้วยค่ะ"
นางสาวปิยะมาศ ปิยะนราธร พนักงานเอกชน ที่เข้าร่วมวิ่งมาราธอนในครั้งนี้ กล่าวว่า "ปกติก็วิ่งเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การวิ่งครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะนอกจากจะวิ่งเพื่อตัวเอง ยังเป็นการวิ่งเพื่อคนอื่น ต้องขอบคุณสมาคมมะเร็ง นรีเวชไทยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ร่วมจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อหารายได้ซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับเด็กผู้ด้อยโอกาส อยากให้รัฐบาลและองค์กรเอกชนอื่นๆ จัดโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมแบบนี้บ่อยๆ เพราะหากป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะสูงมากและอาจเกิดการสูญเสียชีวิตได้ค่ะ"
นพ.วิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "หลายประเทศทั่วโลกมีโครงการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพื่อให้บริการแก่ประชาชนวัยเด็กทั่วไป สำหรับในประเทศไทยโครงการยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ริเริ่มโครงการนำร่องให้บริการวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีให้กับเด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครแล้ว แต่รัฐบาลอาจกำลังดำเนินการกระจายบริการนี้ให้ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ ขณะที่ภาคเอกชนควรสนับสนุนให้พนักงานผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงออกที่ชัดเจน สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีน เพราะมีความสะดวกและยุ่งยากน้อยกว่าการตรวจคัดกรองและการรักษาเป็นอย่างมาก ทุกภาคส่วนจึงควรตระหนักถึงและให้ความสำคัญ ดังนั้น หากรัฐบาลผลักดันในระดับนโยบายและเอกชนให้การสนับสนุนการบริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้างมากขึ้น"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit