เชลล์จัดงานสัมมนา“การสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจท่ามกลางตลาดที่มีความผันผวน”

30 Nov 2015
บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จัดงานสัมมนาในหัวข้อ "การสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ท่ามกลางตลาดที่มีความผันผวน" โดยบริษัทฯ ได้รับเกียรติจาก มร. คริส มิดจ์ลีย์ หัวหน้าทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจวิเคราะห์ตลาดน้ำมัน กลุ่มบริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ (ที่ 3 จากขวา) มากล่าวบรรยายพิเศษถึงภาพรวมของพลังงานในระดับโลก และแนวโน้มที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ร่วมด้วยผู้บริหารระดับสูงของเชลล์ ได้แก่คุณอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย (ที่3 จากซ้าย) คุณอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ กรรมการบริหาร ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม (ที่ 1 จากซ้าย) และ พร้อมทั้งผู้บริหารระดับแนวหน้าจากภาครัฐและเอกชน ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ 2 จากซ้าย) , คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (ที่ 4 จากซ้าย), คุณ กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (ที่ 2 จากขวา) และ คุณกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล (ที่ 1 จากขวา)

บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้จัดงานสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความผันผวนของตลาดและภาวะน้ำมันภายใต้บริบทของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย แก่ลูกค้าองค์กรชั้นนำจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจในการรับมือกับปัจจัยต่างๆที่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาด โดยมี มร. คริส มิดจ์ลีย์ หัวหน้าทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจวิเคราะห์ตลาดน้ำมัน กลุ่มบริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ พร้อมด้วยนักบริหารมือทองจากภาครัฐและภาคเอกชน ให้เกียรติร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์ สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณ กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย คุณกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล และคุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

มร. คริส มิดจ์ลีย์ หัวหน้าทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจวิเคราะห์ตลาดน้ำมัน กลุ่มบริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ ได้แบ่งปันมุมมองและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดน้ำมัน ซึ่งได้แก่ ค่าเงินดอลลาร์เหรียญสหรัฐที่แข็งขึ้น ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ (crude oil) ลดต่ำลง ทั้งนี้เนื่องจากการซื้อขายน้ำมันดิบในตลาดจะใช้ดอลลาร์เหรียญสหรัฐในการทำธุรกรรม เมื่อค่าดอลลาร์เหรียญสหรัฐสูงขึ้น ราคาน้ำมันสำหรับผู้บริโภคผู้ใช้สกุลเงินอื่นๆก็จะสูงขึ้นไปโดยปริยาย ส่งผลให้อุปสงค์ของน้ำมันดิบลดลง ทั้งนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะลดต่ำลงไปอีกภายในปลายปีนี้

ในอีกแง่มุมหนึ่ง มร.คริส มีความเห็นว่าความยืดหยุ่นของรายได้ (income elasticity) เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น แต่อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นนั้นมิได้เป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคซื้อรถจำนวนมากขึ้น หากเป็นผลมาจากผู้บริโภคหันมาใช้รถที่บริโภคน้ำมันในปริมาณมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ยอดขายรถประเภท SUV ที่เพิ่มขึ้นมากในประเทศจีนปีนี้ ซึ่งกระตุ้นให้อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศสูงขึ้น เนื่องจากรถ SUV เป็นรถประเภทที่ใช้น้ำมันในปริมาณสูง ดังนั้นการคาดคะเนแนวโน้มความผันผวนของตลาดน้ำมันจะต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นของรายได้ในแต่ละภูมิภาคของโลกประกอบไปด้วย

มร. คริส มองว่า ภาวะน้ำมันล้นตลาดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อภาคการผลิตและความผันผวนของตลาดน้ำมันในปีนี้ โดยในจำนวน 12 ประเทศผู้ผลิตน้ำมันระดับแนวหน้าของโลกนั้น มีมากถึง 10 ประเทศที่ผลิตปริมาณน้ำมันในปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว ทำให้ประเทศผู้ผลิตจำเป็นต้องเก็บน้ำมันไว้ในคลังมากขึ้นและจำกัดปริมาณน้ำมันในท้องตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพยุงราคาน้ำมันในตลาด การที่มีน้ำมันสำรองสูงนั้น มีการคาดการณ์ว่าน้ำมันสำรองนี้อาจถูกดึงมาใช้พยุงราคาน้ำมันในปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลแก่ความผันผวนของราคาน้ำมันให้สูงยิ่งขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ มร. คริส ยังได้เผยว่า สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกมีอิทธิพลต่อกลไกตลาดน้ำมันและขีดความ สามารถในการแข่งขันของแต่ละภูมิภาคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง การก่อการร้ายรวมทั้งนโยบายของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันโอเปก (OPEC) ซึ่งปัจจุบันโอเปกมีความต้องการที่จะผลิตและปล่อยน้ำมันสู่ท้องตลาดในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ราคาน้ำมันต่ำลงและเพิ่มความต้องการในตลาดจากผู้บริโภคมากขึ้น ในขณะเดียวกัน โอเปกมีความพยายามที่จะควบคุมไม่ให้ความต้องการจากท้องตลาดสูงเกินไป เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการผลิตให้สูงจนเกินควรและมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นภาคธุรกิจต่างๆจึงควรให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังนโยบายของโอเปกในปีหน้า

ในส่วนของภาคสถาบันการเงิน ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำในการรับมือกับความผันผวนไว้อย่างน่าสนใจว่า ธุรกิจควรตั้งอยู่บนพื้นฐานจากทักษะความเชี่ยวชาญหลักของบริษัท และควรซื้อเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ชำระหนี้โดยใช้เงินสกุลท้องถิ่น เพื่อเลี่ยงความผันผวนของเงินดอลลาร์ เช่น บาทกับหยวน บาทกับริงกิต โดยในอนาคตธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นให้มากขึ้น เช่น บาทกับจ๊าด บาทกับดอง นอกจากนี้ ควรติดตามข่าวที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และสุดท้ายคือ ควรสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าโภคภัณฑ์ ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

ตัวอย่างในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าโภคภัณฑ์ เห็นได้จากการแสดงวิสัยทัศน์ของ คุณกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ซึ่งได้กล่าวว่า มิตรผลไม่ได้ทำธุรกิจน้ำตาลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้ต่อยอดธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน หรือด้านไบโอเคมีคัลซึ่งเป็นก้าวต่อไปของบริษัท โดยกลุ่มมิตรผลมองว่า การวิจัยและการพัฒนา คือหัวใจหลักที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต

ส่วน คุณอรรถ เหมวิจิตรพันธ์ กรรมการบริหาร ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่าเชลล์มีเครื่องมือที่ช่วยบริหารความเสี่ยง (Fuel Price Risk Management) ให้แก่ลูกค้า เพื่อช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงในส่วนของต้นทุนราคาน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชลล์จะเข้าไปทำความเข้าใจความเสี่ยงในด้านราคาของธุรกิจลูกค้า นำเสนอวิธีในการบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ ช่วยควบคุมกระแสเงินสดต่อราคาน้ำมันที่ผันผวน การตัดสินใจในการวางแผนและกำหนดงบประมาณง่ายขึ้น สามารถกำหนดราคาสินค้าที่แข่งขันได้ ทำให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไร และรับมือกับความผันผวนของตลาดน้ำมันได้อย่างมั่นใจ

ทางด้าน คุณ กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซีเมนต์ไทย (เอสซีจี) มีความเห็นว่าการวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งที่เอสซีจี ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากงบประมาณที่เอสซีจีตั้งไว้สูงถึง 150 ล้านเหรีญสหรัฐ โดยวิสัยทัศน์ของเอสซีจี คือ การขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน (Go Regional) การสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added) และนวัตกรรม(Innovation) นั้น ควรควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้เอสซีจีสามารถก้าวข้ามความผันผวนในอดีตที่ผ่านมา และสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจจนเติบใหญ่ในปัจจุบัน

คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้แบ่งปันบทเรียนต่างๆที่ โตโยต้า ได้นำสิ่งที่เรียนรู้ในอดีตมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบันและคาดการณ์อนาคต จนสามารถทำให้โตโยต้าเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าในปีนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยจะมีระดับต่ำลงกว่าที่ผ่านมา แต่โตโยต้าก็ยังคงสามารถทำกำไรจากการส่งออกรถยนต์ได้สูงถึง 80% ทั้งนี้โตโยต้าได้กำหนดวิสัยทัศน์ Toyota Way ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาสินค้าให้เหนือกว่าความคาดหวังของลูกค้า พร้อมทั้งยกระดับชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในบริเวณที่โตโยต้ามีการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้โตโยต้ายังมีความตั้งใจที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆอย่างไม่หยุดยั้งอย่างการพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นต้น

การให้ความสำคัญในการลงทุนวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ การตั้งวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนขององค์กรให้เติบโตไปในระดับภูมิภาคและก้าวไกลไปถึงเวทีโลก และการมองหาเครื่องมือที่เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบุคลากร ถือเป็นหัวใจของความสำเร็จสำหรับองค์กรในปัจจุบัน ซึ่งความพยายามเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ธุรกิจไทยเพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดน้ำมันทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างเต็มที