อีไอซีมองภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากนโยบายส่งเสริมของทางภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจเกษตรที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของอุตสาหกรรมเอทานอล โดยเฉพาะธุรกิจมันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล อย่างไรก็ดี สภาวะน้ำมันตกต่ำในปัจจุบัน ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเอทานอลของไทย เนื่องจากราคาอ้างอิงเอทานอลปัจจุบันยังมีส่วนต่างของราคาที่แพงกว่าราคาน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ณ โรงกลั่น อยู่ที่ราวลิตรละ 12 บาท นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในเรื่องของการเพิ่มผลผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยอุตสาหกรรมนี้ยังต้องการความร่วมมือกันจากทุกฝ่ายในการที่จะพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศได้ในอนาคต
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกระแสการตื่นตัวของทั่วโลกที่มุ่งหน้าเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) โดยปัจจุบัน สหรัฐฯ และบราซิล ถือว่าเป็นประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมเอทานอล ทั้งในแง่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเอทานอลรายใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่ไทยเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ลำดับที่ 7 จากประเทศผู้ผลิตเอทานอลทั่วโลก ซึ่งมีปริมาณการผลิตอยู่ที่ราว 3.4-3.5 ล้านลิตร/วัน (รูปที่ 1) โดยส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (bio-fuel) เนื่องจากเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจะมีการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำกว่าการใช้น้ำมันเบนซิน และยังเป็นการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน อีกทั้งด้วยทิศทางการตื่นตัวของทั่วโลกที่มุ่งหน้าเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) รวมไปถึงนโยบายส่งเสริมจากทางภาครัฐ ทำให้ผู้บริโภคในประเทศเริ่มมีความสนใจและหันมาเลือกใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเอทานอล (แก๊สโซฮอล์) เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นโยบายและแรงสนับสนุนของทางภาครัฐถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ส่งผลต่อทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมเอทานอลของไทยในอนาคต เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ประกาศยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ในประเทศถึง 40% ของปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินทั้งหมด ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 (ULG 95) ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้สัดส่วนการใช้แก๊สโซฮอล์ซึ่งมีเอทานอลเป็นส่วนผสม มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และเป็นแรงผลักดันให้ในปี 2013 ปริมาณการใช้เอทานอลในประเทศมีการขยายตัวแบบก้าวกระโดดราว88% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (รูปที่ 2) นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้มีการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกระยะยาว 20 ปี (AEDP 2015) ขึ้นมา โดยมีการวางเป้าหมายเพื่อที่จะส่งเสริมให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์ในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นไปที่ราว 11.3 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2036 ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนที่ทางภาครัฐได้วางไว้ จะทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 7% ต่อปี (รูปที่ 3) และความต้องการใช้มันสำปะหลัง และอ้อย (กากน้ำตาล) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตเอทานอล ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 59.5 ล้านตัน/ปี และ 182 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตปัจจุบันอยู่ที่ราว 30.6ล้านตัน/ปี และ 112 ล้านตัน/ปี ตามลำดับ จึงจะสามารถตอบโจทย์ของความต้องการใช้ในการผลิตเอทานอลที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ตามแผนที่ทางภาครัฐได้วางไว้
ผู้ประกอบการในธุรกิจเอทานอล และผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร โดยเฉพาะมันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล จะได้ประโยชน์จากนโยบายของทางภาครัฐที่มีการส่งเสริมให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศมากขึ้น แรงขับเคลื่อนต่างๆ จากทางภาครัฐในปัจจุบัน ทำให้ทิศทางของอุตสาหกรรมเอทานอลมีแนวโน้มที่จะสดใสในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการใช้กองทุนน้ำมันเข้าช่วยในการรักษาระดับราคาแก๊สโซฮอล์ในประเทศให้ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 (ULG 95) หรือการเตรียมที่จะปรับสูตรราคาอ้างอิงเอทานอลขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง เป็นต้น โดยมาตรการเหล่านี้มีส่วนช่วยส่งเสริมและจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากมองในแง่ผลกำไรของผู้ผลิตเอทานอลจะพบว่า ผู้ผลิตเอทานอลยังสามารถที่จะสร้างผลกำไรส่วนต่างได้อยู่ที่ราว 11-14% เนื่องจากส่วนต่างของราคาต้นทุนการผลิตเอทานอลเมื่อเทียบกับราคาอ้างอิง ยังมีส่วนต่างอยู่ที่ราว 3-4 บาท/ลิตร (รูปที่ 4) โดยจากทิศทางดังกล่าว จะส่งผลให้ทางภาครัฐหันมาส่งเสริมและสนับสนุนภาคการเกษตร รวมไปถึงธุรกิจเกษตรที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยเฉพาะธุรกิจมันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาลในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี สภาวะราคาน้ำมันตกต่ำในปัจจุบันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ส่งแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมเอทานอล แต่สำหรับไทยโดยรวมถือว่าได้ประโยชน์จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรในประเทศทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่าครึ่ง ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 (ULG 95) ณ โรงกลั่น ปรับตัวไปอยู่ที่ราว 14 บาท/ลิตร (รูปที่ 4) ซึ่งต่ำกว่าราคาของต้นทุนการผลิตเอทานอลถึงราว 40% ส่งแรงกดดันต่อการที่จะนำเอทานอลมาผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ในประเทศ ทางภาครัฐจึงต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนราคาให้กับแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้แก๊สโซฮอล์มากขึ้น อย่างไรก็ดี สำหรับไทยที่มีวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเป็นของตนเอง จะได้ประโยชน์จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในประเทศทดแทนการใช้น้ำมันดิบที่ต้องมีการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ โดยมูลค่าที่ไทยหันมาใช้เอทานอลแทนการใช้น้ำมันเบนซินจะอยู่ที่ราว 15,000 ล้านบาท/ปี จากส่วนต่างของราคาที่ประมาณ 12 บาท/ลิตร (รูปที่ 4) เมื่อเทียบราคาเอทานอลอ้างอิงกับราคาน้ำมันเบนซิน ULG 95 ณ โรงกลั่น ซึ่งทางภาครัฐต้องให้เงินอุดหนุนในบางส่วนด้วย ทั้งนี้ การหันมาเลือกใช้เอทานอลในประเทศให้มากขึ้นนั้น นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศลงได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกน้ำมันเบนซินได้เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าราว 19,000 ล้านบาท/ปี (อ้างอิงจากราคาส่งออกน้ำมันเบนซินเฉลี่ยที่ราว 15 บาท/ลิตร) ซึ่งเป็นการช่วยในการเพิ่มดุลการค้าของประเทศ รวมทั้งยังเป็นการสร้างงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรในประเทศอีกด้วย
ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือการพัฒนาความสามารถในการผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ตามแผนพัฒนาพลังงานฯ ของทางภาครัฐ ที่วางเป้าหมายให้กับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลในระยะยาวนั้น จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและธุรกิจเกษตร (มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล) ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของอุตสาหกรรม ให้ต้องปรับเพิ่มปริมาณผลผลิตของมันสำปะหลังและอ้อย (กากน้ำตาล) ของประเทศ เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ของความต้องการใช้ที่จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแผนของทางภาครัฐในอนาคต โดยหากจะทำให้เป็นไปตามแผนที่ทางภาครัฐได้วางไว้ ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ ผู้ประกอบการและเกษตรกรชาวไร่อ้อย จะต้องมีการเพิ่มอุปทานของอ้อยจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีกราว 6 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกปัจจุบันที่มีอยู่ราว 10 ล้านไร่ เพื่อที่จะได้มีกากน้ำตาลเหลือเพียงพอ สำหรับใช้ในการผลิตเอทานอลที่ราว 4.88 ล้านลิตร/วัน ขณะที่การเพิ่มอุปทานของมันสำปะหลังสำหรับใช้ในการผลิตเอทานอลที่ราว2.50 ล้านลิตร/วัน ต้องมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังของไทยในปัจจุบันถูกใช้จนเต็มศักยภาพแล้วราว 8.5 ล้านไร่ ซึ่งต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังขึ้นอีกเกือบ 2 เท่าตัว จากปัจจุบันที่ราว 3.5-3.6 ตัน/ไร่ พัฒนาเพิ่มให้ไปอยู่ที่ราว 7 ตัน/ไร่ โดย 2 ประเด็นดังกล่าว ถือว่าเป็นความท้าทายอีกหนึ่งประการที่ทุกภาคฝ่ายควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของอุตสาหกรรมเอทานอลจะเป็นไปตามแผนที่ทางภาครัฐได้วางเป้าหมายไว้หรือไม่นั้น อีไอซีมองว่ายังมีความเสี่ยงและยังมีประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาศักยภาพให้พร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ผู้ประกอบการธุรกิจเอทานอล ต้องมองหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต ให้สามารถที่จะแข่งขันกับราคาน้ำมันที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำในระยะต่อไป อีไอซีมองว่า ปัจจุบันผู้ผลิตเอทานอลยังมีการเติบโตและสามารถทำกำไรได้ในระยะนี้ แต่เป็นการที่ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากนโยบายของทางภาครัฐเป็นสำคัญ ในการที่จะผลักดันเพื่อให้มีการใช้เอทานอลในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความเสี่ยงในการปรับเปลี่ยนแผนนโยบาย เนื่องจากส่วนต่างของราคาเอทานอลที่สูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินเกือบหนึ่งเท่าตัว ประกอบกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการเร่งพัฒนาศักยภาพในการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต หรือเป็นการพัฒนาร่วมกับผู้ผลิตวัตถุดิบในการลดต้นทุนของวัตถุดิบ เป็นต้น
ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องเร่งเพิ่มอุปทานของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเอทานอลให้เพียงพอต่ออุปสงค์ที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ถือเป็นความท้าทายที่ทางภาครัฐและผู้ประกอบการควรให้การมุ่งเน้นเป็นสำคัญ การที่จะขยายผลผลิตมันสำปะหลัง และอ้อยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด ภายในระยะเวลา 10 ปี ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับไทย เนื่องจากทุกภาคฝ่ายต้องมีการวางแผนและร่วมมือกันในการที่จะผลักดันให้ผลผลิตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ การวางแผนจัดสรรพื้นที่ทางการเกษตรที่เหมาะสม การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเพาะปลูก รวมไปถึงปัจจัยความเหมาะสมต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประกอบกับนโยบายสนับสนุนทางภาคการเกษตรในด้านต่างๆ ของภาครัฐ ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการแก้โจทย์ปัญหาความท้าทายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit