พื้นที่ค้าปลีกมากกว่า 165,690 ตารางเมตรเปิดใหม่ในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558
· พื้นที่ค้าปลีกใหม่อีกประมาณ 225,820 ตารางเมตรมีกำหนดเปิดให้บริการในไตรมาสสุดท้ายของปีพ.ศ.2558 และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก อาทิ เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ บริเวณเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา
· โครงการคอมมูนิตี้มอลล์หลายโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 พ.ศ.2558
นายสัญชัย คูเอกชัย รองกรรมการผู้จัดการ คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังยังมีอัตราการเปิดใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกรายใหญ่ยังคงมีสัดส่วนในธุรกิจค้าปลีกมากที่สุด โดยผู้พัฒนาและผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนสาขาในแต่ละรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และตลาดพื้นที่ค้าปลีกจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทยกำลังกลายเป็นทำเลใหม่ๆ ของผู้ประกอบการและผู้พัฒนาโครงการค้าปลีก โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดน
หลังจากที่กลุ่มเดอะมอลล์เปิดตัว ดิ เอ็มควอเทียร์ และถือว่าเป็นการเปิดตัว ดิ เอ็มดิสทริคอย่างเป็นทางการไปแล้วในช่วงต้นปีอีกทั้งยังมีแผนจะพัฒนา ดิ เอ็มสเฟียร์ในทำเลนี้ และเดอะบางกอกมอลล์บนพื้นที่สี่แยกบางนา ในขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลเปิด เซ็นทรัล เฟสติวัล เวสต์เกตศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่บางใหญ่ ในไตรมาสที่ 3 และเซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์อีกหนึ่งโครงการช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ทั้งสองยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกต่างก็เร่งเปิดศูนย์การค้าเพื่อจับจองพื้นที่หรือการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคซึ่งจากความเคลื่อนไหวนี้แสดงให้เห็นว่าทั้งสองกลุ่มยังมั่นใจในกำลังซื้อของคนไทยในระยะยาว
อัตราการขายและค่าเช่ายังคงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้านี้และอาจจะปรับขึ้นเล็กน้อยในปีพ.ศ.2558
· ความต้องการพื้นที่ในโครงการค้าปลีกของแบรนด์ต่างชาติ และไทยยังคงมีอยู่และขยายตัวต่อเนื่องในปีพ.ศ.2558
· ศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายโครงการมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2558 – 2559 ซึ่งจะมีผลต่อค่าเช่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก เพราะส่วนใหญ่จะมีค่าเช่าที่สูงกว่าโครงการอื่นๆ
· ค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากอัตราการเช่าสูง และมีโครงการใหม่ๆ หลายโครงการเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปในปีพ.ศ.2558
นายสัญชัยกล่าว เพิ่มเติมว่า "พื้นที่ค้าปลีกมากกว่า 165,690 ตารางเมตรเพิ่มเข้าสู่ตลาดในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 ซึ่งส่งผลให้อุปทานพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบเพิ่มขึ้นเป็น 7,250,820 ตารางเมตร นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ค้าปลีกอีกมากกว่า 225,000 ตารางเมตรที่มีกำหนดเปิดให้บริการในไตรมาสสุดท้ายของปีพ.ศ.2558 และคอมมูนิตี้มอลล์อีกหลายโครงการเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 โดยที่ศูนย์การค้ามีสัดส่วนมากที่สุดในตลาดพื้นที่ค้าปลีกโดยมีพื้นที่รวมประมาณ 4.23 ล้านตารางเมตร ตามมาด้วยคอมมูนิตี้มอลล์ 1.07 ล้านตารางเมตร และซูเปอร์สโตร์มอลล์ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต 0.82 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ยังมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่อีกหลายโครงการยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 4 พ.ศ.2558 จนถึงปีพ.ศ.2562"
คอมมูนิตี้มอลล์มีการขยายตัวมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยเพิ่มจาก 300,000 ตารางเมตรในปีพ.ศ.2550 ขึ้นมาถึง 1,073,460 ตารางเมตรในไตรมาสที่ 3 ปีพ.ศ.2558 และสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,150,460 ตารางเมตร แม้ว่าจะมีคอมมูนิตี้มอลล์จำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมลดลงจากช่วงเดือนแรกๆ ที่เปิดให้บริการ
ผู้ประกอบการ และผู้พัฒนาโครงการค้าปลีกในประเทศไทยมองหาโอกาสในการลงทุนในจังหวัดชายแดนทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในแผนจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะว่าต้องการรองรับกำลังซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน อัตราการเช่าพื้นที่ค้าปลีกในทุกทำเลในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 ยังคงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งสูงกว่า 90% ในทุกทำเล อัตราการเช่าเฉลี่ยในทุกทำเลไม่ลดลงแม้ว่ากำลังซื้อของคนไทยจะลดลงต่อเนื่องในปีพ.ศ.2558 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และยังคงน้อยกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่บางโครงการในพื้นที่ใจกลางเมืองยังคงมีพื้นที่ว่าง แม้ว่าจะอยู่ในทำเลสำคัญของย่านการค้าก็ตาม พื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกมีอัตราการเช่าที่สูงเพราะมีซูเปอร์สโตร์มอลล์ และศูนย์การค้าที่พื้นที่เช่าเกือบเต็ม 100% แม้ว่าคอมมูนิตี้มอลล์บางแห่งจะมีพื้นที่ว่างอยู่ก็ตาม
"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 ยังคงลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 พ.ศ.2558 เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายอย่างที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของคนไทย แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะมีแนวโน้มเป็นบวกในเดือนสิงหาคมแต่ก็ปรับขึ้นไม่มากนัก ในขณะที่ดัชนีค้าปลีกก็สะท้อนความเชื่อมั่นของคนไทยเพราะลดลงมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2558 แต่มีสัญญาณบวกตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2558 เป็นต้นมา คนไทยส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และยังคงมีปัจจัยลบหลายอย่างที่มีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม บริษัทเอกชนหลายแห่งพยายามที่จะผลักดันให้รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าที่เป็นอยู่ในช่วงสิ้นปี เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกพยายามที่จะพัฒนาศูนย์การค้าของตนเองให้เป็นศูนย์การค้าที่โดดเด่นด้วยขนาดที่ใหญ่ มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอก" นายสัญชัย กล่าวเพิ่มเพิ่ม
"ค่าเช่าเฉลี่ยในทุกทำเลของกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 ยังคงไม่แตกต่างจากไตรมาสก่อนหน้านี้มากนัก ตลาดค้าปลีกในประเทศไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นอีกในอนาคตจึงทำให้แบรนด์ต่างชาติ และไทยพยายามเปิดร้านหรือว่าเพิ่มจำนวนสาขาเพื่อรองรับกำลังซื้อในอนาคต เพราะฉะนั้นค่าเช่าจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ใจกลางเมืองเป็นทำเลที่มีค่าเช่าสูงที่สุด โดยสูงกว่า 4,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนในศูนย์การค้าที่อยู่ในทำเลใจกลางเมือง หรือว่าอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า BTS ค่าเช่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกอาจจะเริ่มที่ประมาณ 800 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนในคอมมูนิตี้มอลล์บางโครงการ" นายสัญชัย กล่าวปิดท้าย
คาดการณ์
แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่น และดัชนีค้าปลีกจะมีสัญญาณบวกในไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2558 แต่ก็เล็กน้อยเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ.2558 และมีผลไม่มากต่อธุรกิจค้าปลีก และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีพ.ศ.2558 ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งแบรนด์ไทย และต่างชาติยังคงมั่นใจในกำลังซื้อของคนไทยในระยะยาว โดยการมองหาช่องทางในการเปิดร้าน หรือสาขาใหม่ในประเทศไทยต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย
ด้านผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกต่างชาติและผู้พัฒนาโครงการพื้นที่ค้าปลีกต่างชาติกำลังมองหาโอกาสในการเปิดโครงการพื้นที่ค้าปลีกแห่งแรกของตนเองในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติจากทั้งประเทศญี่ปุ่น จีน ที่ต้องการเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการศูนย์การค้าในประเทศไทยโดยทำเลที่พวกเขาต้องการนั้นไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้นแต่กระจายไปในหลายจังหวัดวประเทศไทย พื้นที่ค้าปลีก ไตรมาสสุดท้าย และต้นปีหน้า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit