นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2558 ว่า "เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2558 มีปัจจัยบวกจาก ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ และบทบาทนโยบายการคลังผ่านการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ในระดับสูง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยใน ไตรมาสที่ 4 ปี 2558 จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง" ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า
การบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2558 มีปัจจัยบวกจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 62.2 ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลได้มีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่กลับมาหดตัวร้อยละ -4.1 ต่อปี โดยมีผลมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ซึ่งหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -15.3 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -6.5 ต่อปี จากการหดตัวของปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาคเป็นหลัก จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และปริมาณอุปสงค์ในตลาดโลกที่ซบเซาทำให้กำลังซื้อของประชาชนชะลอลง
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2558 มีสัญญาณทรงตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างสะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 0.2 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.5 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่าหดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนตุลาคม 2558 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูงและดุลงบประมาณที่ขาดดุล ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมของรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2558 มีจำนวน 374.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 359.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 336.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 23.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 58.7 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนตุลาคม 2558 ได้จำนวน 165.3 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -4.8 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลงบประมาณในเดือนตุลาคม 2558 ขาดดุลจำนวน -218.1 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนตุลาคม 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.1 ต่อปี จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเป็นการหดตัวในทุกตลาดส่งออก ยกเว้นฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ที่ยังสามารถขยายตัวได้
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนตุลาคม 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 84.7 จากการที่ยอดคำสั่งซื้อโดยรวมมีทิศทางดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากในช่วงท้ายปีผู้ประกอบการต่างจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ รวมทั้งได้รับผลดีจากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับภาคการท่องเที่ยว สะท้อนได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามา ในประเทศไทย ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 ต่อเดือน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าในรอบ 2 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ลดลง ขณะที่ภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2558 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -4.8 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่าสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5.4 ต่อเดือน โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตมันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่ขยายตัวได้ดี กอปรกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่หดตัว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2558 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมหรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.8 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.8 ต่อปี เป็นผลมาจากการการหดตัวของราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และราคาเนื้อสัตว์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับร้อยละ 43.3 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 158.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit