CHO จับมือพันธมิตรในเยอรมัน ร่วมพัฒนาระบบอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์

26 Nov 2015
บมจ. ช. ทวี ดอลลาเซียน (CHO) จับมือพันธมิตรในเยอรมัน FRAMO GmbH ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์เพื่อการขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เชิงพาณิชย์ในไทย เพื่อต่อยอดธุรกิจประกอบยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต ด้านบิ๊กบอส "สุรเดช.ทวีแสงสกุลไทย" ตั้งเป้าเป็นบริษัทคนไทยรายแรกที่สามารถประกอบยานยนต์เพื่อการขนส่งขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ เตรียมเดินเครื่องทดสอบครั้งแรกไตรมาส 1/2559
CHO จับมือพันธมิตรในเยอรมัน ร่วมพัฒนาระบบอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์

นายสุรเดช.ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช. ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) (CHO) ประกอบธุรกิจเป็นผู้ออกแบบ สร้างสรรค์ ผลิตตัวถังและติดตั้งระบบวิศวกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งเป็นผู้ผสานเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบรางและโลจิสติกส์เข้ากับการจัดการอย่างมืออาชีพ เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจจากบริษัท FRAMO GmbH ประเทศเยอรมัน เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาระบบอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์เพื่อการขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ฯ ดังกล่าว ที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการทุกระดับในประเทศไทย

"บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่ง CHO จะสามารถนำนวัตกรรม มาพัฒนาระบบอุปกรณ์สำหรับยานยนต์สำหรับขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทฯในอนาคตได้ ทั้งนี้ เราได้ตั้งเป้าที่จะเป็นบริษัทคนไทยรายแรกที่สามารถประกอบรถขนส่งขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ ที่มีประสิทธิภาพและราคาเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการทุกระดับสามารถเป็นเจ้าของได้ ซึ่งรถดังกล่าวจะสามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการได้อย่างดี. อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัทเพื่อรองรับงานโครงการรถเมล์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าของ ขสมก. ที่คาดว่าจะเปิดประมูลต่อจากรถเมล์ล็อตแรกจำนวน 489 คันที่เป็นระบบก๊าซธรรมชาติอีกด้วย" นายสุรเดช กล่าว

ประกอบกับ ภายในไตรมาส 1/2559 บริษัทฯ เตรียมนำรถขนส่งเชิงพาณิชย์ประเภท 6 ล้อขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าคันแรกของประเทศไทย นำมาทดลองใช้จริงในเส้นทางการขนส่งของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) ตามที่บริษัท ฯ กับ CPALL และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 3 ฝ่าย เมื่อไตรมาส 2/2558 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมดำเนินโครงการการพัฒนายานยนต์และพลังงานทางเลือกในระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้ การพัฒนายานยนต์และพลังงานทางเลือกในระบบโลจิสติกส์จะส่งผลให้ประสิทธิภาพด้านการจัดการต้นทุนดีขึ้น อาทิ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ค่าเชื้อเพลิง ต่างๆ แล้วยังเป็นการลดมลภาวะบนท้องถนนอีกด้วย โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการออกแบบและพัฒนา และคาดว่าจะสามารถผลิตรถขนส่งไฟฟ้าเชิงพาณิชย์คันแรกของประเทศไทยในปี 2559