นายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผย สมาคมฯ ตระหนักดีถึงผลกระทบของความตกลงการค้าเสรี TPP (Trans Pacific Partnership) ในมิติต่างๆ แม้ว่าประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในข้อตกลง โดยภาคเกษตร-ปศุสัตว์ มีความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของไทยในการพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอนาคต เพราะอาจจะทำให้ภาคปศุสัตว์ทั้งหมูและไก่รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองสำหรับผลิตอาหารสัตว์ ที่มีจำนวนรวมกันกว่า 700,000 ครัวเรือน ต้องล้มละลาย ส่งผลต่อแรงงานภาคเกษตรที่ต้องขาดอาชีพ ขาดรายได้ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้ผลิตปศุสัตว์รายใหญ่ของโลก และจะการผลักดันเนื้อหมูและชิ้นส่วน รวมถึงเนื้อไก่และชิ้นส่วนที่ไม่เป็นที่ต้องการของชาวอเมริกัน เข้ามาขายในประเทศสมาชิก TPP อย่างแน่นอน
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีตัวอย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู-เลี้ยงไก่ของเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่ต้องล้มละลายไปเพราะได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของเศษเหลือจากการบริโภค (by product) ทั้งหมูและไก่จากสหรัฐฯ หากอนาคตไทยตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม TPP จริง เชื่อแน่ว่าผลผลิตด้านปศุสัตว์ของสหรัฐฯ ต้องทะลักเข้ามาในไทย จนกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่มีกว่า 191,545 ครัวเรือน รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ปู่-ย่าพันธุ์ พ่อ-แม่พันธุ์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อรวม 5,308 ครัวเรือน และหากไม่มีผู้เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ก็จะไม่มีตลาดรองผลผลิตพืชอาหารสัตว์ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมากกว่า 471,824 ครัวเรือน และเกษตรกรผู้เพาะปลูกถั่วเหลืองจำนวน 31,381 ครัวเรือน
ด้าน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกลุ่ม TPP เนื่องจากมีความกังวลว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในกลุ่ม TPP และเป็นผู้ผลิตหมูรายใหญ่ของโลก จะผลักดันเนื้อหมูและชิ้นส่วนหมูที่ไม่เป็นที่ต้องการของชาวอเมริกัน เช่น เครื่องใน หัว ขา และหนังหมู เข้ามาดั๊มพ์ตลาดในไทย ที่จะสร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงหมูไทย และภาคเกษตรที่เกี่ยวข้อง
"เรามีบทเรียนจากเมื่อปี 2556 ที่สหรัฐฯได้พยายามจะส่งออกเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง เข้ามาขายในไทยในราคาถูก แต่ผู้เลี้ยงหมูทุกคนไม่ยอมพยายามป้องกันจนความพยายามนั้นไม่เป็นผล ถ้าอนาคตไทยเข้าร่วม TPP สิ่งที่พยายามปกป้องไม่ให้สารเร่งเนื้อแดงเข้ามาทำร้ายผู้บริโภคชาวไทยมาตลอดก็สูญเปล่า เพราะสหรัฐฯต้องใช้มาตรการและเงื่อนไขทางการค้าอย่างอื่นมากดดันให้ไทยต้องเปิดนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐอย่างแน่นอน และในที่สุดคนไทยก็ต้องบริโภคหมูที่มีสารก่ออันตรายต่อสุขภาพ" นายพิพัฒน์ กล่าว
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า เกษตรกรไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ได้อย่างเพียงพอต่อการบริโภคของคนไทย และยังเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ได้เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา อียู ในด้านการตลาดยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 5-10 ต่อปี อีกทั้งไทยยังมีกรอบเจรจาการค้าอาเซียนบวก ASEAN+6 หรือ RCEP ที่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงอยู่แล้ว จึงเป็นตลาดที่สดใสสำหรับไก่เนื้อไทย ดังนั้น ต้องมีการศึกษา TPP ที่มีสหรัฐฯเป็นแกนนำให้ดี เนื่องจากสหรัฐฯมีต้นทุนการเลี้ยงไก่ที่ต่ำกว่าไทย หากเป็นสมาชิกแล้วการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ก็จะสามารถดำเนินการได้โดยเสรี จะทำให้มีสินค้านำเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย จนเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด และเกิดความเสียหายต่อภาคปศุสัตว์ทั้งระบบ
"ปัจจุบันไทยกำหนดภาษีนำเข้าเนื้อไก่อยู่ที่อัตราร้อยละ 30 เป็นมาตรการคุ้มครองเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ หาก เข้าร่วมกลุ่ม TPP ในอนาคต และสินค้า by product ราคาถูกจากสหรัฐฯ เข้ามาดั๊มพ์ราคาในประเทศโดยที่ไทยยังไม่มีมาตรการอื่นมารองรับ ก็จะทำให้ราคาสินค้าปศุสัตว์ของไทยตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่และเกษตรกรในภาคปศุสัตว์ทั้งระบบ ต้องขาดทุนและเป็นหนี้สิ้น เนื่องจากมีการลงทุนไปแล้ว จนต้องเลิกกิจการไปเหมือนเกษตรกรประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ" นายคึกฤทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มากกว่า 600,000 ตัน โดยมีตลาดหลักคือ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น คิดเป็น 80-90% ของการส่งออกเนื้อไก่ทั้งประเทศ โดยในปี 2558 นี้ คาดว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ได้ประมาณ 650,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 85,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 ตลาดเกาหลีใต้จะอนุญาตให้ไทยส่งออกไก่สดไปได้ ซึ่งจะช่วยให้ไทยส่งไก่สดเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันส่งได้เฉพาะไก่ปรุงสุกปริมาณ 15,000 ตันต่อปี หากเกาหลีใต้เปิดตลาดอย่างเต็มที่คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกไก่ไปได้มากกว่า 40,000 ตันต่อปี
ด้าน นายสิทธิพร บูรณนัฏ เลขานุการสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด กล่าวว่า หากอนาคตไทยตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม TPP เกษตรกรไทยจะต้องได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดสินค้าเกษตรเสรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเทศสมาชิกต่างพยายามผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรของตนเองไปทำตลาดกับประเทศในกลุ่ม สำหรับโคเนื้อก็อาจมีผลิตภัณฑ์เนื้อวัวจากสหรัฐฯเข้ามาในไทยเพิ่มอีก แม้ว่าสหรัฐฯต้องแข่งขันกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ปัจจุบันก็มี FTA ร่วมกับไทยอยู่แล้ว และยังได้เปรียบกว่าในแง่ของค่าขนส่งสินค้ามาไทยที่ต่ำกว่าก็ตาม
นายสิทธิพร กล่าวอีกว่า จากตัวเลขการเลี้ยงโคของกรมปศุสัตว์ พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคอยู่ 1.2 ล้านครัวเรือน มีการเลี้ยงโคเนื้อจำนวน 3.5-4 ล้านตัว แบ่งออกเป็น โคขุนพรีเมี่ยมประมาณร้อยละ 2 โคขุนตลาดกลางร้อยละ 45 และอีกร้อยละ 53 เป็นโคตลาดล่าง ซึ่งโคทั้งหมดสร้างรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ด้านความต้องการบริโภคเนื้อโคของไทยในแต่ละปีมีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี โดยเฉลี่ยการบริโภคทรงตัวอยู่ที่ปีละ 1-1.25 ล้านตัว หรือคิดเป็น 2.5-3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ดังนั้น โคที่ผลิตได้ในประเทศจะใช้บริโภคเกือบทั้งหมด ขณะที่ไทยก็มีการส่งออกโคมีชีวิตไปยังตลาดการค้าชายแดงเวียดนามและจีน ที่มีความต้องการบริโภคเนื้อโคขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดบริโภคเนื้อขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก นอกจากนี้ ไทยยังมีการนำเข้าเนื้อโคจากประเทศที่ทำ FTA กับไทย ทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยทุกวันนี้ไทยยังมีปัญหาการแข่งขันด้านราคากับทั้งสองประเทศที่เลี้ยงวัวเป็นอุตสาหกรรม ทำให้มีต้นทุนต่อตัวถูกกว่าไทยที่ยังเป็นผู้เลี้ยงรายย่อย และเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม ขณะที่ในอนาคตไทยกำลังจะเปิด FTA กับอินเดียที่เลี้ยงโคมากถึง 200 ล้านตัว และอินเดียก็ขอให้ไทยเปิดนำเข้าเนื้อวัว แลกกับการที่ไทยสามารถส่งออกปิโตรเคมิคอลมูลค่า 6.5 หมื่นล้านบาทเข้าไปยังอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาโคเนื้อลดต่ำกว่านี้
ขณะที่ สินค้าประเภทนมและผลิตภัณฑ์ก็มีประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็มีความพยายามทำตลาดสินค้าในประเทศต่างๆ เช่นกัน
ส่วน รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่อง TPP มาโดยตลอด กล่าวว่า สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ TPP ไม่ใช่แค่เรื่อง FTA ไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่เป็นเกมส์การเมืองรูปแบบใหม่ จริงอยู่ที่ TPP อาจส่งผลดีตามหลักรัฐศาสตร์ คือจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐดีขึ้น แต่ต้องไม่ลืมดูผลเสียที่จะเกิดขึ้น ทั้งผลเสียตามหลักรัฐศาสตร์ โดย TPP จะทำให้สหรัฐฯ สามารถครองความเป็นเจ้า ทำให้เอเชียตะวันออกรวมกลุ่มกันไม่สำเร็จ และจะกระทบต่อ FTA ที่ไทยมีอยู่แล้ว อาทิ RCEP นอกจากนี้ ยังเป็นการลดบทบาทของอาเซียน และจะทำให้เอเปคมีบทบาทมากขึ้น
"ด้านผลเสียทางเศรษฐศาสตร์ เกิดจากการที่ TPP เป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งจะกระทบต่อไทยหลายสาขา อาทิ สาขาเกษตร ที่อาจไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับตลาดขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำในการผลิตสินค้าเกษตรของโลกที่จะพยายามผลักดันสินค้าของตนเองเข้ามายังตลาดประเทศในกลุ่มอย่างแน่นอน รวมถึงกระทบด้านการค้าภาคบริการ มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน จริงๆแล้วเราเคยมีประสบการณ์จากเรื่องการเจรจา FTA กับสหรัฐแล้ว ที่เขาตั้งมาตรฐานไว้สูงจนไม่มีใครทำตามได้ ดังนั้นไทยต้องตามเกมส์อเมริกาให้ทัน การชั่งน้ำหนักอย่าดูเพียงเศรษฐกิจ ต้องนำปัจจัยการเมือง ภูมิรัฐศาสตร์มาชั่งด้วยจึงจะเห็นภาพชัด" ดร.ประภัสสร์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.พุทธชาติ วงษ์มงคล นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการดำเนินการของไทยต่อความตกลง TPP ในขณะนี้ว่า ทางกรมเจรจาการค้าฯ อยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบของความตกลง TPP โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2559 นอกจากนี้ ในช่วง 1-2 ปี ของการดำเนินกระบวนการภายในของสมาชิก TPP เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ ไทยควรมีการศึกษาข้อบทในเชิงลึกเมื่อมีการเผยแพร่ข้อบท (text) ของความตกลง ซึ่งจะทำให้ทราบว่าไทยควรหรือไม่ควรเข้าร่วมกลุ่มความตกลงดังกล่าว
"ที่ผ่านมาทางกรมฯได้หารือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด ตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ ตลอดจนเตรียมมาตรการรองรับและเยียวยาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" น.ส.พุทธชาติ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit