การรวมตัวครั้งใหญ่ของเยาวชนไทยรุ่นใหม่จากทั่วประเทศนี้ เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากองค์กรหลายภาคส่วนที่เห็นความสำคัญของพลังเยาวชนในโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทยปี 4 ที่ดำเนินมาถึงรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันก่อน ณ หอประชุม 201 ชั้น 2 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เกียรติมอบรางวัลและโอวาท รวมถึงบุคคลสำคัญมากมายร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อเฟ้นหาสุดยอดโครงการจิตอาสาต้นแบบเปลี่ยนประเทศ ประจำปี พ.ศ 2558 ที่สามารถปลุกพลังและสร้างกระแส 'Active Heart…Active Mind…Active Citizen' เกิดเป็นพลเมืองสายพันธุ์ใหม่ที่หัวใจรู้จักการให้และเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ภายใต้แนวคิด Gen A (Generation Active) "รวมพลคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา" ทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ที่เกิดจากพลังความร่วมมือขององค์กรภาคีหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม สสส. มูลนิธิธรรมดี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด โดยปีนี้มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการกว่า 800 คนจากหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทั้งนี้ สสส. เชื่อมั่นว่า โครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยปลูกจิตสำนึก พร้อมทั้งกระตุ้นเด็กและเยาวชนให้เกิดความกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เพื่อชุมชนของตนเอง อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นสังคมพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ที่พลเมืองทุกคนมีความรู้รับผิดชอบในหน้าที่ของตนและสำนึกสาธารณะเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า ภายใต้โจทย์หลัก "พลังจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ" เยาวชนคน Gen A ที่ผ่านการคัดเลือกมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศทั้ง 8 ทีม จาก 28 ทีมในรอบแรก ได้แสดงพลังความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจผ่านรูปแบบโครงการจิตอาสาที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง โดยภายในงานวันนั้นมีโครงการจิตอาสาที่โดดเด่นรวมทั้งสิ้น 11 ทีม มาออกบูธแสดงผลงานกิจกรรมจิตอาสาอย่างยิ่งใหญ่ เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้เข้างานได้เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ โครงการ "ไออุ่นรักจากเปลวเทียน" มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นำทีมโดยนายพุทธชัย พูนเจริญผล คือทีมที่สามารถคว้ารางวัลสุดยอดโครงการจิตอาสาต้นแบบประจำปี 2558 ไปครองได้สำเร็จ โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษาคณะครุศาสตร์หัวใจอาสาผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม จัดตั้งกลุ่มพัฒนาสังคมเพื่อปลูกจิตสำนึกแห่งความเป็นครูให้แก่เยาวชนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล
พลังความมุ่งมั่นในการสร้างครูผู้พัฒนาชาติของทุกคนในทีมได้ปลุกพลังจิตอาสาและสะเทือนอารมณ์ของผู้ร่วมงานที่ได้รับชมในวันนั้นจนสามารถพิชิตใจคณะกรรมการ และได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนในการดำเนินโครงการจิตอาสา จำนวน 50,000 บาทไปครอง
สำหรับรางวัลชนะเลิศประจำภาค 3 รางวัล ซึ่งแต่ละทีมได้รับมอบโล่ประจำโครงการพร้อมทุนในการดำเนินโครงการทีมละ 50,000 บาท ได้แก่ โครงการเยาวชนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน (Eco Students) โรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ จ.กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการรวมพลังจิตอาสาของเด็กนักเรียน ชั้นมัธยมที่ต้องการบูรณาการท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเยาวชนและคนในท้องถิ่นให้มีระเบียบวินัย เกิดความรักท้องถิ่นและประเทศชาติ รู้จักหน้าที่ของตนและมีจิตสาธารณะ ด้วยการปลูกจิตสำนึกแก่ชุมชนในการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง และรู้จักสร้างสรรค์ของใช้จากวัสดุธรรมชาติใกล้ตัว โดยดำเนินงานแบบเครือข่ายและเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มเยาวชน ชุมชน บริษัทห้างร้าน และหน่วยงานราชการ
โครงการเชียงของเรนเจอร์ จากโรงเรียนเชียงของวิทยาคม จ.เชียงราย ที่มุ่งมั่นเปลี่ยนขยะของเหลือใช้ที่ใครๆ อาจมองว่าไม่มีค่าให้กลายเป็นทอง จึงรวมตัวกันจัดกิจกรรมเข้าค่าย ck ranger เพื่อให้ความรู้เพื่อนนักเรียนและบุคลากร เช่น กิจกรรมพลาสติกช่วยโลกร้อน กิจกรรมกระดาษช่วยโลกร้อน ด้วยความมุ่งหวังว่าจะสามารถปลูกฝังนิสัยการคัดแยกขยะแก่ทุกคน เพื่อให้รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อโลกมากที่สุด และโครงการรักษ์ต้นน้ำเสริมสร้างจิตสาธารณะตามแนวพระราชดำริ โรงเรียนสตรีพัทลุง จ.พัทลุง ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 องค์กรหลัก คือ บ้าน วัด โรงเรียน จัดตั้งชมรมคนรักษ์น้ำ เพื่อจัดทำฝายชะลอน้ำต่อชีวิตให้กับลำห้วยแมที่แห้งขอดให้มีน้ำไหลตลอดปี อีกทั้งยังช่วยลดความแรงของน้ำในหน้าน้ำหลาก และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดินและป่า ควบคู่ไปกับการขยายผลสู่เยาวชนในโรงเรียนและชุมชนผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ
รางวัลรองชนะเลิศประจำภาค 4 รางวัล รับมอบโล่ประจำโครงการและทุนดำเนินโครงการทีมละ 7,000 บาท ได้แก่ โครงการ UP TO YOU ชีวิตดี…มีทางเลือก จากมหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามและโรงเรียนพุทธชินราชพิทยา จ.พิษณุโลก โครงการ YES I A_M มหาวิทยาลัยสยาม จ.กรุงเทพฯ โครงการโอบอุ้มโลกให้สดใส ด้วยน้ำใจของพวกเรา มหาวิทยาลัยศรีปทุมขอนแก่น จ.ขอนแก่น และ โครงการ นศท.อาสาพัฒนาชุมชน โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา
ในช่วงท้ายของงาน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้ย้ำถึงความสำคัญของการมีจิตสาธารณะว่า ประเทศไทยอยู่มาได้ถึงวันนี้ ทั้งที่ผ่านวิกฤตมาหลายต่อหลายครั้ง ก็เพราะคนไทยยังรู้จักให้กันด้วยความรักความเมตตา และหวังว่าพลังความมุ่งมั่นของเยาวชน Gen A ในวันนี้จะแผ่ขยายไปสู่สังคมวงกว้างและกระตุ้นให้ทุกคนลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อผู้อื่น ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งไว้ว่า
"การทำดีนั้นยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลังในการสร้างเสริมและสะสมความดี"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit