ICDL เดินหน้าแคมเปญ Digital Literacy for Thailand ยกระดับความรู้ด้าน ICT พื้นฐานของบุคลากรสู่ระดับมาตรฐานสากล

08 Dec 2015
ICDL หลักสูตรประกาศนียบัตรทักษะคอมพิวเตอร์มาตรฐานสากล ย้ำยุคที่เศรษฐกิจของโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิตอล ทักษะความรู้ด้าน ICT ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในแทบทุกด้าน ทั้งการทำงาน การศึกษาและในชีวิตประจำวัน และยิ่งใกล้การเปิดเขตเศรษฐกิจ AEC หากตลาดแรงงานไทยปรับตัวไม่ทัน ขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันอาจล้าหลังประเทศอื่นๆ ระบบทดสอบออนไลน์และประกาศนียบัตรวัดทักษะดิจิตอลมาตรฐานโลก ICDL ตั้งเป้าสร้างฐานศูนย์อบรมและวัดความรู้ด้านไอทีด้วยมาตรฐานโลกทั่วประเทศไทย ทั้งสถาบันการศึกษาและเอกชน คาดหวังให้เป็นที่รู้จักและนิยมของทั้งผู้ใช้แรงงานและบริษัทเอกชน ในการรับรองทักษะความรู้ไอที พร้อมเข้าทำงานในหน้าที่ต่างๆ โดยไม่ต้องลงทุนกับการฝึกอบรม
ICDL เดินหน้าแคมเปญ Digital Literacy for Thailand ยกระดับความรู้ด้าน ICT พื้นฐานของบุคลากรสู่ระดับมาตรฐานสากล

มร.เดเมียน โอ ซัลลิแวน ตัวแทนจาก ICDL กล่าวว่า "ICDL เป็นประกาศนียบัตรทางด้านไอทีที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก ด้วยจำนวนของการทดสอบวัดความรู้แล้วกว่า 50 ล้านข้อสอบ โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจาก ECDL (European Computer Driving License) ซึ่งเป็นประกาศนียบัตรทางด้านไอทีที่ถือกำเนิดเมื่อครั้งสหภาพยุโรปหรือ EU ที่ต้องการกำหนดมาตรฐานทักษะความรู้ สำหรับการวัดและประเมินความรู้ของประชากรที่อาศัยอยู่ใน EU ดังนั้น ICDL จึงเปรียบได้กับใบขับขี่สากล ซึ่งหากสอบผ่านในแต่ละหัวข้อ ก็จะได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถในทักษะที่สอบผ่าน และสามารถนำไปสมัครงานด้านได้"

ปัจจุบัน ประกาศนียบัตร ICDL ดำเนินงานโดยมูลนิธิ ECDL Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งโดยสหภาพยุโรป มีการเรียนการสอนระยะไกลหรือ E-Learning ให้บริการระบบทดสอบวัดมาตรฐานต่างๆ ผ่านทางระบบออนไลน์ สำหรับประกาศนียบัตรมาตรฐานสากลที่ ICDL ออกให้กับผู้ที่สอบผ่านนั้น โดยสามารถนำไปใช้ทั้งในการสมัครงานและการยืนยันความสามารถด้าน ICT ได้ทั่วโลก ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนสอบไปแล้วกว่า 15 ล้านคนและมีการสอบไปแล้วกว่า 50 ล้านชุด ใน 148 ประเทศทั่วโลก

มร.ฮิวจ์ส แพททริค โอคอนแนล, ตัวแทน ICDL Asia ในประเทศไทย กล่าวถึงการขยายฐานในประเทศไทยว่า "ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นอีกประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการนำเอามาตรฐานสากลระดับโลกต่างๆ เข้ามาพัฒนาคนภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา เรื่องมาตรฐานในการทำงาน เช่นเดียวกันในการทำธุรกิจยุคใหม่ ไอทีถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ICDL จึงเข้ามาขยายฐานในประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ในมุมมองของเราประกาศนียบัตร ICDL จะเน้นไปที่การวัดทักษะความรู้ด้านไอทีจะเข้ามาช่วยสร้างรากฐานที่ดีให้กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการนำเอาเศรษฐกิจดิจิตอลมาใช้ในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ"

จากการสำรวจของ ICDL ประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้สมัครงาน 29% แจ้งว่าตนเองมีทักษะความรู้ที่เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการทำงาน "ดีมาก" และอีก 49% บอกว่าตนเองมีทักษะความรู้อยู่ในระดับ "ดี" แต่หลังจากนำเอากลุ่มคนตัวอย่างเหล่านี้เข้าทดสอบทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในหน้าที่ที่สมัครงาน พบว่ามีเพียง 7% เท่านั้นที่สอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานของ ICDL ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดความรู้ในหลักสูตรไอทีเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องอาศัยการทำความเข้าใจเพราะถือว่าเป็นเรื่องใหม่กับประเทศไทย

หลักสูตรของ ICDL แบ่งออกได้ 3 ระดับ

ICDL นั้นแบ่งหลักสูตรประกาศนียบัตรออกเป็น 3 ระดับที่เหมาะกับทุกคนและการทำงานที่แตกต่างกัน สามารถเลือกได้ดังต่อไปนี้

1. ระดับพื้นฐาน (Digital Literacy) เป็นทักษะ ICT ที่ทุกคนควรมีประกอบไปด้วย 4 วิชา ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, การจัดการเอกสาร (Word Processing), การบันทึกข้อมูลในรูปแบบตาราง (Spreadsheets) และความรู้การใช้งานอินเทอร์เน็ต

2. ระดับเสริมสมรรถนะการทำงาน (Digital Competence)

3. ระดับเชี่ยวชาญ (Digital Expertise)

ปัจจุบัน ICDL ได้มีการลงบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมไปถึงได้เข้าร่วมกับหลายสถาบัน เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการ STEM Project ในการจัดแข่งขันทักษะคอมพิวเตอร์มาตรฐานสากล ICDL 4 ภาค หรือการร่วมมือการตั้งศูนย์อบรมและสอบในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายของ ICDL ประเทศไทย ต่อไปคือ การขยายสู่ภาคประชาชนและบุคคลทั่วไปทั้งในแง่ของข้อได้เปรียบและความจำเป็นของการมีประกาศนียบัตรทักษะความรู้ด้าน ICT ให้เป็นที่เข้าใจและได้รับความนิยมเช่นเดียวกับการสอบประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษในแง่ของภาครัฐ,การศึกษาและเอกชนก็จะมีการผลักดันให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะเลือกใช้มาตรฐานไอทีระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานของ ICDL ที่ได้รับเลือกจากรัฐบาลหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์, ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ในการนำไปใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการประเมินทักษะความรู้ที่กำหนดอยู่ในแผนพัฒนาความรู้ด้าน ICT ของประเทศ" มร. ฮิวจ์ส แพททริค โอคอนแนล กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ICDL สามารถเข้าชมได้ที่ www.icdlasia.org