กรมควบคุมโรค หนุนเครือข่ายภาคประชาชนใช้หลัก 3เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” จัดการสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

01 Dec 2015
วันนี้(27 พฤศจิกายน 2558)นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ที่ยังพบผู้ป่วยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และตัวเมืองใหญ่ๆ ประกอบกับในบางพื้นที่ยังมีฝนตก ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งขณะนี้จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 4,000 รายต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตามจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีฝากความห่วงใยและสั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกให้ประสบความสำเร็จ ตอนนี้เราได้เห็นเครือข่ายหลายแห่ง รวมถึงประชาชนตื่นตัวในการร่วมกันป้องกันไข้เลือดออกและช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายมากขึ้น
กรมควบคุมโรค หนุนเครือข่ายภาคประชาชนใช้หลัก 3เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” จัดการสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

กรมควบคุมโรค ขอเชิญชวนประชาชนและเครือข่ายทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์และจัดการสิ่งแวดล้อมในครัวเรือน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นใช้หลัก 3เก็บ ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3.เก็บน้ำปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริเวณครัวเรือน โรงเรียน ตลาดนัด เขตก่อสร้าง สถานีขนส่ง ที่รกร้าง และหอพักรอบมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยให้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งในการทำงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ร่วมเป็น "เครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในเมืองหลวง" หรือที่เรียกว่า "Metro DengueNet"(เมทโทร เดงกี่เนท) ร่วมกันแจ้งข้อมูล สอบถามประวัติผู้ป่วยที่เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรค นำไปสู่การสอบสวนและควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชนที่ตรงพื้นที่และรวดเร็วมากขึ้น ดังเช่นตัวอย่างในชุมชนเขตคันนายาว ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อป้องกันไข้เลือดออกจากเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่าย อสส./อสม. ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งมาก ทำให้มีอัตราป่วยในชุมชนเขตคันนายาวน้อยที่สุดในกรุงเทพฯ โดยชุมชนดังกล่าวมีการปฏิบัติการเชิงรุกภายในชุมชน เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงการป้องกันโรค และการมีส่วนร่วมในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งมีทีมเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติพ่นฆ่ายุงตามบ้านที่มีผู้ป่วยและรอบบ้านในรัศมี 100 เมตร เพื่อช่วยให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีหน่วยงานเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกแล้ว จำนวน 110 แห่ง นอกจากนี้ยังมีองค์กรภาคประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุข และอาสาคอนโดมิเนียม ร่วมดำเนินการในครั้งนี้ด้วย

สำหรับโรคไข้เลือดออก พบได้ทุกกลุ่มวัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการคือ มีไข้สูงและมักสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตัว เบื่ออาหาร ปวดจุกแน่นท้อง อาจมีเลือดกำเดา มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น ขอความร่วมมือประชาชนอย่าได้วางใจ หากมีไข้สูงต้องรีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยาแก้ไข้กินเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่าย หากเป็นไข้เลือดออก ให้ทานยาพาราเซาตามอลเท่านั้น ร่วมกับการเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ซึ่งช่วงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในผู้ป่วยคือช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ถ้าผู้ป่วยซึมลงกินดื่มไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว คือสัญญาณอันตรายของโรคนี้ ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพราะผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้ เมื่อเป็นไข้เลือดออกแล้ว ต้องป้องกันยุงกัดผู้ป่วยแล้วแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างด้วย โดยการให้ผู้ป่วยทายากันยุง หรือนอนมุ้งครอบ กำจัดยุงลายภายในบ้านผู้ป่วยและเพื่อนบ้านอย่างเข้มข้น ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง/สคร.13 กรุงเทพฯ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

โทรศัพท์ 0-2590-3857