กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของเมืองน่าน 1 ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด ลงพื้นที่ชุมชนบ้านหนองบัวต้นแบบบ้านสะอาด อนามัยดี ชีวีสมบูรณ์ เน้นสร้างการมีส่วนร่วมและจัดการขยะแบบครบวงจร สร้างสุขอนามัยดีให้ขุมชน พร้อมตามติดการดำเนินงานเฝ้าระวังถนนอาหารปลอดภัย สร้างความมั่นใจด้านสุขาภิบาลอาหาร ตลอดจนชื่นชมการพัฒนาส้วมสาธารณะประเภทศาสนสถาน สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการนำสื่อมวลชนศึกษาดูงานการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ณ ชุมชนบ้านหนองบัว จังหวัดน่าน ว่า กรมอนามัยให้ความสำคัญต่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชน เริ่มตั้งแต่ที่บ้าน โดยได้ดำเนินงานโครงการบ้านสะอาด อนามัยดี ชีวีสมบูรณ์ ขึ้น เพื่อสร้างเสริมให้ประชาชนมีความใส่ใจต่อสุขภาพด้วยการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมขั้นพื้นฐานในครัวเรือน การทำความสะอาดและปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ้านให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล รวมทั้งมีพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ถูกต้อง ซึ่งจังหวัดน่านนับเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในการ เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน/ชุมชน ให้ประชาชนทุกครัวเรือนมีความใส่ใจต่อสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยในปี 2558 มีเป้าหมายพัฒนาให้เกิดหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบบ้านสะอาด อนามัยดี ชีวีสมบูรณ์ อำเภอละ 1 แห่ง ภายใต้เกณฑ์ประเมินที่สอดรับกับบริบทของพื้นที่จังหวัดน่าน ได้แก่ ชุมชนมีมาตรการลดการใช้สารเคมี มีแหล่งจำหน่ายผักปลอดสารพิษ มีการดำเนินงานอาหารปลอดภัย ชุมชนมีการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่า มีการดูแลส้วมสาธารณะ มีกิจกรรมควบคุมป้องกันแหล่งพาหะนำโรค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งมีหมู่บ้านที่ผ่านการตรวจประเมินของคณะกรรมการตามเกณฑ์บ้านสะอาด อนามัยดี ชีวีสมบูรณ์ จำนวน 11 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านนาแห้ว บ้านใหม่ บ้านหนองเต่า บ้านครกคำ บ้านดงไพรวัลย์ บ้านพนาไพร บ้านน้ำหก บ้านป่าเหียง บ้านเป้า บ้านดอนชัย และบ้านหนองบัว พื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้
ทางด้าน นายแพทย์นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวเสริมว่า การดำเนินกิจกรรมบ้านสะอาด อนามัยดี ชีวีสมบูรณ์ ของบ้านหนองบัว เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือขายและชุมชน ที่นอกจากจะร่วมกันดำเนินการตามเกณฑ์การประเมินแล้ว ยังส่งเสริมสนับสนุนการจัดการขยะแบบครบวงจร ซึ่งจังหวัดน่านมีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนประมาณ 444 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะมูลฝอยที่เกิดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเก็บรวบรวมและให้บริการเก็บขน จำนวน 36 แห่ง มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจำนวน 206 ตันต่อวัน และเป็นขยะมูลฝอยที่เกิดในเขตองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีการให้บริการเก็บรวบรวมและขนส่ง จำนวน 63 แห่ง มีประมาณขยะที่เกิดขึ้น จำนวน 238 ตันต่อวัน โดยขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นขยะอินทรีย์ประเภทเศษผัก เศษผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ ร้อยละ 62 ขยะรีไซเคิลประเภทกระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ กล่องนม ร้อยละ 24 ขยะทั่วไปประเภทซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก ถุงบรรจุขนม ร้อยละ 10 และขยะอันตรายประเภทแบตเตอร์รี่ ถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์ ร้อยละ 4 และมีอัตราการนำมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ จำนวน 152.53 ตัน คิดเป็นร้อยละ 36.35 ซึ่งปริมาณขยะทั้งหมดได้มีการกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการโดยเทศบาลเมืองน่าน จำนวน 50 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 24.28 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมได้ เทศบาลท่าวังผา จำนวน 5 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 2.43 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมได้
ทางด้าน นายแทน เทพเสน กำนันตำบลป่าคา กล่าวว่า ชุมชนบ้านหนองบัวได้ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่หมู่บ้านคัดแยกขยะทุกวัน กองทุนขยะของหมู่บ้านรับซื้อขยะรีไซเคิลทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน มีการนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ ส่วนขยะทั่วไปองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะจัดเก็บแล้วนำไปกำจัดที่หลุมกำจัดขยะของ อบต. ขยะอันตรายจะเก็บรวบรวมแล้วนำไปส่งกำจัดที่เทศบาลเมืองน่าน มูลฝอยติดเชื้อในชุมชนเก็บใส่ถุงแดงนำไปเก็บรวบรวมที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าคา เพื่อส่งไปกำจัดที่เตาเผาเทศบาลเมืองน่าน นอกจากนี้ชาวบ้านชุมชนหนองบัว ยังร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านให้สะอาด สวยงาม น่าอยู่ และรวมกลุ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีด้วย
ทางด้าน นายสุเชษฐ์ พันธ์แก้ว นายกเทศมนตรีตำบลท่าวังผา กล่าวว่า เทศบาลตำบลท่าวังผา มีการดำเนินงานจัดการ มูลฝอยภายใต้โครงการบริหารจัดการศูนย์จัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เทศบาลตำบลท่าวังผา รองรับขยะหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ 7 หมู่บ้านคือ หมู่ที่ 1 บ้านดอนชัย หมู่ที่ 2 บ้านท่าวังผา หมู่ที่ 3 บ้านอาฮาม หมู่ที่ 4 บ้านสบยาว หมู่ที่ 5 บ้านวังว้า หมู่ที่ 6 บ้านท่าวังผาสอง และหมู่ที่ 7 บ้านท่าวังผาสาม ระบบการจัดการศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยการชั่งน้ำหนัก โรงคัดแยกขยะ อาคารล้าง - ปั่นแห้ง ระบบการกำจัดขยะโดยวิธีการแบบเชิงกล - ชีวภาพ (Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT) บ่อบำบัดน้ำเสีย และหลุมฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล ซึ่งในการจัดการเป็นรูปแบบการกำจัดขยะจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
"เริ่มจากการเก็บรวบรวมจากชุมชน ชั่งน้ำหนักรถก่อนเข้าและออก นำเข้าสายพานคัดแยกขยะ คนงานคัดแยก คัดแยกเป็นขยะรีไซเคิล และขยะอินทรีย์ แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งขยะฝังกลบ นำทิ้งในบ่อฝังกลบ ส่วนที่สองขยะอินทรีย์ นำไปทำปุ๋ยหมัก ขยะประเภทถุงพลาสติกนำไปล้างและปั่นแห้ง โดยภายหลังเพิ่มการกำจัดขยะวิธีการวิธีการแบบเชิงกล - ชีวภาพ (Mechanical and Biological Waste Treatment :MBT) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เป็นการจัดการขยะที่เหลือจากการคัดแยก นำเข้าเครื่องสับขยะ เครื่อง MBT และเครื่องแยกขยะ เพื่อนำเป็นวัสดุปรับปรุงดินที่ได้จากการหมักโดยระบบ MBT (ผลผลิตที่ได้จากระบบ MBT ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ ในเวลา 30 วัน) และเศษพลาสติก ทำเป็นเชื้อเพลิง (RDF) จากขยะจำหน่าย ซึ่งจากระบบการจัดการสามารถลดปริมาณขยะที่นำไปฝังกลบลงเหลือประมาณร้อยละ 25 - 40 มีระบบรองรับการบำบัดน้ำเสีย และระบบการฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาล มีระบบบำบัดและป้องกันการปนเปื้อนมลพิษที่เกิดขึ้นออกสู่สิ่งแวดล้อม และมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม" นายสุเชษฐ์ กล่าว
ในช่วงเย็นวันเดียวกัน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ได้นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการดำเนินงาน ถนนอาหารปลอดภัย ส่งเสริมปีท่องเที่ยววิถีไทย (Street Food) ของจังหวัดน่าน ซึ่งเป็น 1 ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาดจาก 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการจัดการด้านสุขาภิบาลอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคและส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมา ซึ่งข้อมูลจากการเฝ้าระวังการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงของจังหวัดน่านในปี 2558 พบรายงานการระบาดอาหารเป็นพิษในโรงเรียน จำนวน 1 ครั้ง มีผู้ป่วย 95 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ในระดับชุมชนกำหนดไม่ให้นำอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ มาจัดงานเลี้ยงในหมู่บ้าน ส่งเสริมให้ประชาชนกินอาหารปรุงสุก สะอาด มีพฤติกรรมกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ พร้อมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติ เพื่อควบคุมให้มีระบบจัดการอาหารปลอดภัยในท้องถิ่น
"ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง รองรับการท่องเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองน่าน จึงมีการออกตรวจประเมินร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาดสด และถนนอาหาร ตามเกณฑ์ข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหารของกรมอนามัย ตั้งแต่เกณฑ์ร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) เกณฑ์ตลาดสด น่าซื้อ และเกณฑ์ถนนอาหารปลอดภัย ควบคู่กับการแนะนำผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร ที่ทำงานในร้านอาหาร จำนวน 140 แห่ง ซึ่งผ่านเกณฑ์ จำนวน 121 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86.42 แผงลอยจำหน่ายอาหาร จำนวน 310 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 285 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 91.93 รวมทั้งตลาดสดทุกแห่งในเขตเทศบาลเมืองน่าน จำนวน 5 แห่ง ถนนคนเดิน ถนนอาหารกาดข่วงเมืองน่าน จำนวน 1 แห่ง โดยทุกแห่งผ่านเกณฑ์ทั้งหมด" นายแพทย์วชิระ กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของจังหวัดน่าน ยังได้ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาส้วมสาธารณะ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานที่สาธารณะ สถานประกอบการ สถานที่ราชการ ได้มีและใช้ส้วม ที่ถูกสุขลักษณะ มีความสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย สร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้ใช้บริการ โดยในปี 2557 ที่ผ่านมานั้น จังหวัดน่าน มีส้วมที่ได้รับรางวัลสุดยอดส้อมระดับจังหวัด จำนวน 3 รางวัล คือ ประเภทสถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ ได้แก่ ท่าอากาศยานน่าน ประเภทสถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ท่าวังผา และประเภทศาสนสถาน ได้แก่ วัดหัวข่วง ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ศึกษาดูงานประเภทส้วมศาสนสถานในแหล่งท่องเที่ยวในครั้งนี้ด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit