เครือข่ายภาคประชาชน ผู้ประกอบการภาคเกษตรและอาหาร จี้รัฐ ชะลอร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ หวั่นเปิดช่องจีเอ็มโอ

16 Dec 2015
เครือข่ายภาคประชาชนและผู้ประกอบการภาคเกษตรและอาหารกว่า 122 เครือข่ายร่วมเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิอธิปไตย-ความมั่นคงทางอาหาร และทางเลือกของผู้บริโภคที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)และศาลากลางจังหวัดในกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ

เครือข่ายฯและประชาชน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำหุ่นไล่กาจำนวน 77 ตัว แทนจำนวนจังหวัดในประเทศไทย และส่งข้อความ "ค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ" "No GMO" และ "คนไทยไม่เอาจีเอ็มโอ" ให้กับคณะรัฐมนตรีพร้อมกับยื่นหนังสือต่อคณะรัฐบาลให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.... และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายที่มีตัวแทนของภาคประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และถูกคัดค้านจากภาคประชาชน กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ องค์กรภาคประชาสังคม เกษตรกร และภาครัฐประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่ออธิปไตย-ความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยทางชีวภาพ และการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย

นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการบริษัทนครหลวงค้าข้าวจำกัด กล่าวว่า "การอนุญาตให้มีการนำพืชจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อมจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง เช่น ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อในต่างประเทศ จากกรณีการปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอกับข้าวทั่วไปของสหรัฐอเมริกาปี 2549 แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่สามารถป้องกันปัญหาการปนเปื้อนระหว่างพืชทั่วไปและและพืชจีเอ็มโอได้ ผลก็คือทำให้สหรัฐฯสูญเสียตลาดสหภาพยุโรปไป และผู้ซื้อจากสหภาพยุโรปหันมาซื้อข้าวจากประเทศไทยแทนข้าวจากอเมริกา (1)"

นายวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า "ร่างพ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับนี้กลับคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติแทนที่จะปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและผลประโยชน์ของเกษตรกรไทย โดยเจตนาที่จะไม่นำหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพมาบังคับใช้ (2)"

"วันนี้เรานำหุ่นไล่กามาเป็นสัญลักษณ์เพื่อขับไล่ พ.ร.บ. ที่มีปัญหานี้ออกไป เราจะต้องไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งได้เกิดการหลุดรอดของมะละกอจีเอ็มจากแปลงทดลองผ่านการจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าจีเอ็มโอให้กับประชาชนทั่วไปซึ่งผิดกฎหมายและสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก (3) เพื่อให้เราไม่หวนไปสู่ความผิดพลาดอีก พ.ร.บ. นี้ควรถูกร่างขึ้นใหม่ให้มีความรัดกุมโดยคำนึงถึงหลักปลอดภัยไว้ก่อน กำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนในกรณีที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น นำข้อท้วงติงจากหน่วยงานสำคัญของรัฐทั้งสองหน่วยงาน และข้อเสนอจากเครือข่ายผู้ประกอบการและภาคประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง"

เครือข่ายองค์กรประชาชนยังได้ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี โดยได้วิเคราะห์ให้เห็นปัญหาความไม่ชอบธรรม และข้อกพร่องต่างๆของร่างพ.รบ. และเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณา 2 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเอาไว้ก่อน โดยให้แต่งตั้งตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากจีเอ็มโอ ตัวแทนจากเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรอินทรีย์ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรอินทรีย์ และนักวิชาการด้านกฎหมายที่ได้ติดตามประเด็นความปลอดภัยทางชีวภาพ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายอย่างน้อยกึ่งหนึ่งในคณะกรรมการปรับปรุงร่างฯ

2. นำหลักการป้องกันไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดเชยความเสียหาย มาเป็นหลักการสำคัญในการปรับปรุงร่างกฎหมาย และให้นำความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาที่บกพร่องให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(BIOTAI) หนึ่งในองค์กรที่ร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้ชี้ว่า "นี่เป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านในประเด็นที่เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอครั้งใหญ่ในสังคมไทย ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวประกอบด้วยสมาคมการค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มประชาชนในจังหวัดต่างๆมากกว่า 46 จังหวัดทั่วประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคม รวมกันมากกว่า 122 องค์กร ตลอดระยะเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เคยมีรัฐบาลใดที่ผลักดันนโยบายและกฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอมากเท่าที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการ พวกเราเชื่อว่าหากรัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง การเคลื่อนไหวจะขยายวงออกไปกว้างขวางมากยิ่งไปกว่านี้อีก ซึ่งรัฐบาลเองที่จะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้น"

กิจกรรมเคลื่อนไหวในวันนี้ยังจัดขึ้นในอีกกว่า 46 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, ยโสธร, สุรินทร์, อุบลราชธานี, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด,อุดรธานี, เชียงใหม่, น่าน, ลำปาง, ลำพูน, พะเยา, นครสวรรค์, เชียงราย, กระบี่, สงขลา, พัทลุง, ปัตตานี, ตรัง, สตูล, สุราษฎร์ธานี,ภูเก็ต, พังงา, สุพรรณบุรี, นครปฐม, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, อุทัยธานี, ตราด, สระแก้ว, นครนายก, สิงห์บุรี,อ่างทอง, ปทุมธานี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, แม่ฮ่องสอน, อุตรดิตถ์, นครศรีธรรมราช, สมุทรสงคราม, สระบุรี, กรุงเทพฯหมายเหตุ

(1) รายงานอุตสาหกรรมข้าวไทยตกอยู่ในอันตราย: http://www.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/164310/Thai-Rice.pdf

(2) พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ เป็นพิธีสารภายใต้อนุสัญญาว่า ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ:https://www.cbd.int/doc/legal/cartagena-protocol-en.pdf

(3) รายงานการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทย: http://www.greenpeace.org/seasia/th/Global/seasia/report/2008/2/ge-papaya-contamination-th.pdf