พ.ศ. 2530 วางมือจากวงการโฆษณา หลังจากทำงานในวงการนี้มากว่า 22 ปี เพื่อมุ่งวาดภาพอย่างที่ตัวเองต้องการซึ่งภาพส่วนใหญ่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชินีนาถ ที่งดงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ฯลฯ
ไปศึกษาและเขียนภาพโบราณสถานที่สังเวชนียสถานทั้งสี่และสถานที่อื่นที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกที่ประเทศอินเดีย หลายครั้งเพื่อบันทึกเรื่องราวและยืนยันความมีอยู่จริงของพระพุทธเจ้าในทางประวัติศาสตร์และตอกย้ำว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์โลก
และนอกจากการเขียนภาพพระเจ้าแผ่นดินที่แสดงถึงความจงรักภักดีและภาพความจริงอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา ยังมีแรงบันดาลใจที่อยากสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป
นั่นคือการเขียนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอิสานบ้านเกิดให้ได้เห็นถึงภูมิทัศน์ บ้านเรือนของผู้คน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมโดยให้ชื่อว่า "เขียนอิสาน ตำนานแผ่นดิน"ในการพัฒนาเทคนิควิธีการสร้างผลงานนั้น ด้วยความที่เป็นคนมีทักษะการใช้ดินสอ ลายเส้นจึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การสร้างงาน นอกจากนี้ยังมีงานสีน้ำมันที่โดดเด่นซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากทักษะและประสบการณ์ ความชำนาญและช่ำชองที่สะสมไว้ ทำให้ภาพสีน้ำมันแต่ละภาพของเขามีความยิ่งใหญ่อลังการ ส่วนใหญ่จะมีขนาดมหึมาชนิดที่หาคนทำได้ยาก และอีกเช่นกันที่บ่งบอกให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่มีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์ เพราะทุกภาพเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี และถ่ายทอดพระราชกรณีย์กิจรวมถึงแนวทางในโครงการพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงออกมาได้อย่างงดงาม
คุณค่าของภาพที่ได้รังสรรค์ขึ้นมามีจำนวนมากนี้มีค่ามีความหมายมากมายมหาศาล และยากที่ใครจะทำได้เสมอเหมือนปัจจุบัน ด้วยวัย 71 ปี ชูศักดิ์ ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องและมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อีกทั้งทายาททั้งสองก็มีความสามารถทางด้านศิลปะที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน สำหรับตัว อ.ชูศักดิ์ เอง ได้รับโอกาสสร้างสรรค์งานที่สำคัญๆ ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ