ไทย-ฟิจิ ลงนามเอ็มโอยูความร่วมมือด้านเกษตรและประมง หวังเพิ่มขีดความสามารถทางวิชาการเกษตรระหว่างกัน ทั้งเป็นช่องทางให้ไทยขยายการค้าและลงทุนไปยังฟิจิและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกอื่นๆ พร้อมเชื่อมข้อมูลอุดช่องประมงไอยูยู

15 Dec 2015
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงนามกับนายไอเนีย เซรูอิราตู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การพัฒนาชนบทและทะเล และการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติฟิจิ และนายโอเซีย ไนกามู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประมงและป่าไม้ฟิจิ ในบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐฟิจิว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร และบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงประมงและป่าไม้ แห่งสาธารณรัฐฟิจิว่าด้วยความร่วมมือด้านประมง โดยสาระสำคัญของเอ็มโอยูทั้งสองฉบับมีขอบเขตความร่วมมือ ที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือในการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งรวมทั้งสัตว์ และพืช การพัฒนาองค์กรและสหกรณ์ภาคการเกษตร มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และสาขาอื่นๆ ที่สองฝ่ายสนใจ รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรประมง การป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU fishing) การตรวจสอบย้อนกลับของการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบประมง การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นเพื่อยืนยันความถูกต้องของเอกสาร การวิจัยและพัฒนา การประเมินทรัพยากรประมง การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล รวมถึงการดำเนินการด้านนโยบาย และกฎระเบียบ ในการทำประมงด้วย

"เอ็มโอยูทั้งสองฉบับจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการทางการเกษตรและประมงของไทยกับประเทศหมู่เกาะฟิจิ และสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นช่องทางให้ไทยขยายการค้าและลงทุนไปยังฟิจิและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกอื่นๆ เนื่องจากฟิจิเป็นตลาดใหม่ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ รวมถึงเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการรายงานข้อมูลการทำประมงระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยป้องกัน ยับยั้ง และขจัด การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม( IUU) โดยปัจจุบันไทยนำเข้าสินค้าประมงสด แช่แข็ง แช่เย็น แปรรูปจากฟิจิประมาณ 265 ล้านบาท/ปี" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

หลังจากเอ็มโอยูแล้วทั้งสองประเทศจะตั้งคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร และคณะทำงานร่วมด้านประมงระหว่างไทย-ฟิจิ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือและรายละเอียดสาขาความร่วมมือที่ทั้ง 2 ฝ่ายสนใจและ มีศักยภาพ โดยจะจัดให้มีการประชุมทุกๆ 2 ปี ภายใต้รูปแบบความร่วมมือสำคัญๆ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักวิชาการและนักวิจัย การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา และการประชุมในเรื่องที่สนใจร่วมกัน การเพิ่มขีดความสามารถโดยการฝึกอบรมและการศึกษาดูงาน รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศ

สำหรับการค้าสินค้าเกษตรและประมงไทย-ฟิจิ ในระหว่างปี 2555-2557 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก โดยมีมูลค่าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 723 ล้านบาท เป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 433 ล้านบาท มีสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น สินค้าประมงสด แช่แข็ง แช่เย็น แปรรูป และมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 289 ล้านบาท มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ข้าว อาหารปรุงแต่ง และน้ำตาล ฯลฯ ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับฟิจิมาโดยตลอด.