ในสมัยอดีตกาลจึงมีการสังเกตการณ์ดวงดาวบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน และวัตถุทางดาราศาสตร์ หลายอย่างได้ถูกค้นพบเรื่อยมาตามยุคสมัย จนกระทั่งมีการคิดค้นกล้องโทรทรรศน์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จำเป็นก่อนที่จะมีการพัฒนามาเป็นเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อใช้ประโยชน์ในการอธิบายวัตถุบนท้องฟ้าและปรากฏการณ์ต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ คณะรัฐบาลได้อนุมัติการก่อสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาหรือท้องฟ้าจำลอง พ.ศ.2504 โดยมีห้างบีกริม แอนโก กรุงเทพ จำกัด และตัวแทน บริษัท คาร์ลไซซ์ จากเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนเครื่องฉายดาวระบบกลไกมอเตอร์และเลนส์ (Opto mechanical) รุ่น Mark IV (มาร์ค โฟร์)
โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิด อาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพและทอดพระเนตรการแสดงทางท้องฟ้า วันที่ 18 สิงหาคม 2507 และ เปิดให้บริการแก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2507 เป็นต้นมา
ปัจจุบันทางท้องฟ้าจำลองได้ปรับปรุงเครื่องฉายระบบดิจิตอล โดยมอบหมายให้บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด นำระบบเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจาก บริษัท Evans and Sutherland (E&S) จาก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลกด้านเทคโนโลยีระบบการฉายแบบดิจิตอล
บริษัท สยามทีซี เทคโนโลยี จำกัด บริหารงานภายใต้บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด โดย นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยถึง ความทันสมัยเครื่องฉายดาวระบบดิจิตอลว่า "ตลอดระยะเวลา 180 วัน ที่ทางบริษัทฯ ได้เข้ามาปรับปรุงระบบเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องฉายดาวอุปกรณ์สำคัญของท้องฟ้าจำลอง บริษัทฯได้นำระบบดิจิตอลทันสมัยที่สุดมาใช้ร่วมกัน กับเครื่องฉายดาว ซึ่งระบบของเครื่องฉายดาว แบ่งออกเป็น 2 ส่วนๆ ของการฉายภาพใช้เครื่องฉายภาพ คริสตี้ (Christie) ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องโปรเจคเตอร์ที่ดีที่สุดอันดับต้นๆ เพราะการออกแบบให้มีความสว่างสูง อายุการใช้งานยาวนาน เหมาะกับการใช้งานในโรงละคร และท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่ และเลนส์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ฉายภาพได้กว้างกว่าโปรเจคเตอร์ทั่วไป
และส่วนของการควบคุมมีการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีการพัฒนามาถึงรุ่นที่ 5 ชื่อว่า Digistar5 ซึ่งมีความสามารถในการฉายทั้งดวงดาวและภาพยนตร์ได้ โดยมีความคมชัดสูงถึง 4K เครื่องฉายดาวระบบดิจิสตาร์ 5 ที่นำมาใช้กับท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุด ในประเทศไทย"
นอกจากการปรับปรุงเทคโนโลยีเครื่องฉายดาวแล้ว ทางบริษัท ฯ ได้เข้าไปดูแลการตกแต่งภายใน ห้องฉายดาว ภายใต้แนวคิดแสงแห่ง Aurora เพื่อสร้างความสดใส แปลกตาให้กับห้องฉายที่มีอายุยาวนานกว่า 52 ปี และเพิ่มแสงไฟที่ขอบโดม สามารถเปลี่ยนสีได้ถึง 12 สี นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น โดยห้องฉายดาวสามารถจุผู้ชมได้จำนวน 280 ที่นั่งพร้อมทั้งระบบเสียง 5.1 เซอร์ราวด์เทียบเท่าโรงภาพยนตร์ชั้นนำในประเทศไทย
"ทางดิทโต้เห็นความสำคัญด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินโครงการ ท้องฟ้าจำลองและได้ให้ความสำคัญกับโครงการท้องฟ้าจำลองที่จะเกิดขึ้นต่อๆ ไป เพราะถือว่าสถานที่แห่งนี้มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ สำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ที่อยู่ในวงการด้าน ดาราศาสตร์ ให้มีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีแบบง่ายดาย" นายฐกร กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit