นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐากถาพิเศษเรื่อง "การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการพัฒนานวัตกรรม" ในพิธีเปิดงาน NFI OPEN HOUSE "Fine Cut Show Case อุตสาหกรรมก้าวล้ำด้วยนวัตกรรมอาหารไทย" ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดการกระจายสินค้าอาหารจากไทยไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จนเรียกได้ว่าไทยเป็น "ครัวของโลก" และเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารในอันดับที่ 14 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนร้อยละ 2.29 ของมูลค่าส่งออกอาหารโลก อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารของไทยในระยะที่ผ่านมาของการพัฒนาธุรกิจเป็นไปในลักษณะของการเพิ่มมูลค่า(Value Added) และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เดิมในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) โดยเน้นการผลิตสินค้าจ้านวนมาก (Mass Product) ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมือนๆกัน จนทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันและบางครั้งเกิดการขายตัดราคากันเอง
จากการจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก (Global Competitive Index : GCI) ซึ่งทำการสำรวจโดย World Economic Forum ประจำปี ค.ศ. 2014-2015 พบว่าหากพิจารณาในด้านนวัตกรรมเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลก 148 ประเทศ พบว่าในปี 2557 ไทยมีขีดความสามารถด้านนวัตกรรมอันดับที่ 67 ของโลก (อันดับ 1-5 ได้แก่ ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา) ตกจากอันดับที่ 66 ในปี 2556 และที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถของปัจจัยทุกด้านในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย จะพบว่าด้านนวัตกรรมยังเป็นจุดอ่อนของไทย การนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสเข้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีหน่วยงาน สถาบันอาหาร ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอาหาร ในด้านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบสนองความต้องการของตลาดโลกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เข้ารับการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวม 330 ผลิตภัณฑ์ ด้วยแนวคิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมบนพื้นฐานภูมิปัญญาไทย นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก (Thailand Food Quality to the World) โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คุณค่าอาหารไทย (Thailand Food Forward) และโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล
"อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการที่ผ่านมา ร้อยละ 70 ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ส่วนอีกร้อยละ 30 ยังคงต้องมีการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ในรายที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในสายการผลิต จะพบว่าสามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และตลาดประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร ได้ดำเนินการในลักษณะการจัด Business Matching ให้กับผู้ประกอบการโดยพาไปพบกับผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้าในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป เป็นต้น โดยพบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายที่สามารถเปิดตลาดกับนักธุรกิจที่ต่างประเทศและมีการสั่งซื้อต่อเนื่อง" นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่ากระแสการปรับเปลี่ยนการบริโภคและรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่จะมาแรงในอนาคตมีด้วยกัน 13 แนวโน้มที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อปรับตัวให้ทันกับความต้องการของตลาดโลก ได้แก่ 1)การหันมามุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ให้คุณค่าเฉพาะ (Functional Food Products) 2)การหันมามุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร 3)การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรและวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ และวิถีชีวิตในเมืองที่เร่งรีบ ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูป (Instant Foods) อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-cook) และอาหารพร้อมทาน (Ready-to-eat) ซึ่งหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อต่างๆ กันมากขึ้น 4)การตระหนักและการรับรู้ของผู้บริโภค ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผู้ผลิตควรมีการนำเสนอข้อมูลความเป็นมาของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภคว่ามีที่มาอย่างไรบ้าง 5)สารอาหารหรือคุณประโยชน์ที่ได้จากธรรมชาติ 6)ผลิตภัณฑ์ที่เน้นการชะลอความแก่และบำรุงสุขภาพ 7)อาหารที่มีโปรตีนครบถ้วน 8)ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ 9)การลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ 10)สินค้าในหมวดหมู่เพื่อสุขภาพ จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มใช้คำว่า Additive/Preservative free แทนคำว่า Natural กันมากขึ้น 11)ประสบการณ์ความอร่อยแบบใหม่ๆ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้อาหารและขนมที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สินค้าเหล่านี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดี เนื่องจากมีลูกเล่นทางเนื้อสัมผัส กลิ่นรส และรสชาติของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากเดิม 12)ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก และ13)ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารกและผู้สูงวัย ผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นผลิตเพื่อเด็กทารก และผู้สูงอายุมีมากขึ้น
นายอาทิตย์ กล่าวในช่วงท้ายว่า "นวัตกรรมมิใช่เพียงแค่ความคิดสร้างสรรค์ หรือความคิดใหม่ๆ แต่ต้องเป็นความคิดใหม่ที่สามารถขายได้จริง หรือการทำให้ความคิดใหม่ๆ มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในโลกการค้ายุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันอาหาร พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ก้าวเข้าสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม และหวังว่าการจัดงานในวันนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการทุกท่านในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยด้วยนวัตกรรมออกสู่เวทีโลกได้ในอนาคตอย่างมั่นใจ"
ด้านนายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า งาน NFI OPEN HOUSE จัดขึ้นภายใต้แนวคิด"Fine Cut Show Case อุตสาหกรรมก้าวล้ำด้วยนวัตกรรมอาหารไทย" ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2558 เป็นการจัดกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกอาคารโดยรอบสถาบันอาหาร และอาคารศูนย์การเรียนรู้อาหารไทยหรือ Thai Food Heritage โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทบาท ภารกิจของสถาบันอาหาร ทั้งการบริการปกติ และการดำเนินโครงการที่สำคัญภายใต้นโยบายครัวไทยสู่โลกในวงกว้าง ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใน
งานบริการด้านต่างๆ ให้กับลูกค้าสถาบันอาหาร ทั้งยังเป็นโอกาสดีในการขยายการรับรู้สู่กลุ่มลูกค้าใหม่ นอกจากนี้ก็เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าฮาลาลที่นับวันจะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการส่งออกอาหารของไทยเป็นอย่างมาก
"ยิ่งไปกว่านั้น ยังถือเป็นโอกาสดีที่ในเดือนพฤศจิกายนปี 2558 นี้ เป็นเดือนแห่งการก่อตั้งสถาบันอาหารและก้าวสู่ปีที่ 20 มีบุคลากรจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับสถาบันอาหารมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการ และทุกคนต่างก็ทำช่วยกันหน้าที่ในการสร้างรากฐานด้านความปลอดภัยอาหารให้กับประเทศ สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ร่วมกับผู้ประกอบการกว่า 300 ผลิตภัณฑ์ สร้างบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเชื่อมโยงจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญกว่า 35,000 คน สร้างงานวิจัย และแหล่งข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการสร้างการรับรู้ในด้านการส่งเสริมอัตลักษณ์อาหารไทยให้กับชาวต่างชาติ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะต้องขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งประเทศไทยได้เป็น "ครัวอาหารของโลก" อย่างสมบูรณ์"
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการรวมหลายกิจกรรมเข้าด้วยกัน สำหรับไฮไลท์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือ การจัดแสดงผลงานและนิทรรศการผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการ จำนวน 105 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ข้าวเกรียบหนอนไหม, ห่อหมกปลาแมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง, ทอดมันทะเลชุบแป้งสอดไส้น้ำจิ้มลาวาแช่แข็ง, หมี่กรอบส้มซ่าปลาทูแม่กลอง, มังคุดผง, ชามังคุด, แยมมังคุด, คัสตาร์ดทุเรียน, ปลาร้าบองทรงเครื่องแบบผง, เยลลี่ผักพร้อมทาน,ข้าวกล้องงอกผสมกล้วยน้ำว้าสุกพร้อมชง และซุปต้มยำแก่นตะวัน เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสนับสนุนภายใต้โครงการพิเศษของสถาบันอาหารประจำปี 2558 ได้แก่ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารไทย และโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
นอกจากนี้ผู้ที่เข้าชมงานยังสามารถพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็นกับนักวิชาการเฉพาะด้านที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละฝ่ายงานภายในสถาบันอาหารในรูปแบบคลินิคให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมของฝ่ายต่างๆ ขณะเดียวกันได้ยังนำองค์ความรู้ของแต่ละหน่วยงานมาจัดเป็นหัวข้ออบรม เสวนา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย(Thai Food Heritage) ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้สมัยใหม่เฉพาะทางด้านอาหารแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย คาดว่าจะมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเชื่อมโยง นักศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงานรวม 2 วันไม่น้อยกว่า 700 คน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit