สุดยอด!! “THAI SILK PLUS: เพื่อผิวกระจ่างใส” เครื่องสำอางแบรนด์ไทย ฝีมือนักวิจัยแม่โจ้ คว้า 2 รางวัลใหญ่จากแดนโสม ผลิตภัณฑ์ดี ที่เพิ่มมูลค่าเศษไหม-สาหร่ายไก สร้างรายได้ให้เกษตรกร

15 Jun 2015
ไทยซิลค์พลัส: ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อผิวกระจ่างใสจากใยไหม ผสมสาหร่ายไก รับรางวัล 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง Gold Medal และรางวัลพิเศษ Special Award จาก การประกวดในระดับนานาชาติ 1st World Invention Innovation Contest 2015 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกวด 16 ประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน 2558

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดวงพร อมรเลิศพิศาล นักวิจัยเจ้าของผลงาน คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากร ทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “แนวคิดที่ได้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะต้องการเพิ่มมูลค่าของใยไหมที่เป็นเศษเหลือใช้ และสาหร่ายไก สาหร่ายน้ำจืดที่เป็นวัตถุดิบพื้นบ้านราคาถูก ซึ่งจากการศึกษา พบว่า ไหม มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเอนไซม์ที่ก่อให้เกิดกระ ฝ้า ช่วยลดริ้วรอย ส่วน สาหร่ายไก ช่วยให้ความชุ่มชื้น ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และมีความสามารถในการก่อเจล ลดการระคายเคือง จึงได้นำมาสกัดเป็นสารผสมในเครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยมช่วยให้ผิวกระจ่างใส ผิวนุ่ม ชุ่มชื่น และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนที่เพาะเลี้ยงทั้งไหมและสาหร่าย เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตอบโจทย์ทั้งในส่วนของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่พัฒนาขึ้นภายใต้แบรนด์ ไทยซิลค์พลัส: ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อผิวกระจ่างใส พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด คือ โฟมล้างหน้า เจลลบเลือนริ้วรอย ครีมเพื่อผิวหน้ากระจ่างใส จากการผสมผสานสารสกัดจากใยไหมร่วมกับสารสกัดจากสาหร่ายน้ำจืดเข้าด้วยกัน โดยมีสารสำคัญที่ช่วยบำรุงผิว ลดเลือนริ้วรอย และป้องกันจุดด่างดำบนใบหน้า โดยได้ผ่านการทดสอบในอาสาสมัครมาแล้วจำนวน 30 คน ได้รับรางวัล การันตีระดับนานาชาติ จากแดนโสมเมืองแห่งวงการเครื่องสำอาง ในการประกวด 1st World Invention Innovation Contest 2015 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ผลงาน “ไทยซิลค์พลัส” จึงเป็นอีกหนึ่งผลงานความสำเร็จของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้มุ่งมั่นศึกษาวิจัย คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ที่สามารถผงาดในเวทีระดับ นานาชาติ โดยไม่ได้ทิ้งพื้นฐานของความเป็นเกษตร ตามวิสัยทัศน์ “เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความเป็น เลิศทางการเกษตรในระดับนานาชาติ”

ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ หรือเกษตรกรผู้เลี้ยงไหม และสาหร่ายน้ำจืด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873470 091-8533066

E mail: doungpornfishtech_gmail.com