นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มารยาทและภาษาไทยเป็นสิ่งที่ทุกคนในฐานะคนไทยต้องธำรงรักษาไว้เพื่อให้คงอยู่ไปจนถึงคนรุ่นหลัง ธนชาตขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างสังคมไทยให้แข็งแกร่งทางด้านวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยได้จัดโครงการ “ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในปณิธานความดีที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ ๔๔ วัตถุประสงค์เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีของไทย และเสริมสร้างเยาวชนให้เป็นต้นแบบทางวัฒนธรรมที่ดีและยั่งยืน โดยเปิดให้สถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศส่งตัวแทนนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการภายใต้กิจกรรม “การแข่งขันอ่านฟังเสียง” และ “การประกวดมารยาทไทย” ชิงรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษา และในวโรกาสเฉลิมฉลองครบรอบ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีการเพิ่มประเภท “การประกวดมารยาทไทยของเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยิน” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้โอกาสผู้บกพร่องทางการได้ยินที่มีความสามารถด้านมารยาทไทยที่ถูกต้องและงดงามด้วย
“นอกจากจัด “การแข่งขันอ่านฟังเสียง” และ “การประกวดมารยาทไทย” แล้ว ธนชาตยังส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปสามารถเรียนรู้มารยาทไทยในโอกาสต่างๆ ที่ถูกต้องด้วยด้วยการจัดทำวิดีทัศน์สาธิตการอ่านฟังเสียงและวีดีทัศน์แนะนำมารยาทไทยในโอกาสต่างๆ ให้ผู้สนใจได้ศึกษาและเป็นแนวทางในการนำไปใช้ในกิจวัตรประจำวันไว้ในเว็บไซต์ www.thanachartcsr.com/เอกลักษณ์ไทย สำหรับปีนี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ธนชาตได้ปรับปรุงและพัฒนาวีดีทัศน์ทั้งหมดให้มี “ภาษามือ” เพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้บกพร่องทางการได้ยิน พร้อมกับผลิตละครสั้นแนะนำการใช้ภาษาและมารยาทที่ถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างการรับรู้และรณรงค์ให้ประชาชนไทยได้ร่วมกันส่งเสริมมารยาทไทยในวงกว้างขึ้น ภายใต้แคมเปญ “เท่...อย่างไทย ใครๆ ก็นิยม” โดยร่วมกับ คุณไก่ – วรายุฑ มิลินทจินดา ผู้จัดละครชื่อดัง ซึ่งจะเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ต่อไป และหวังอย่างยิ่งว่าการจัดโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาหวงแหนและช่วยกันรักษาไว้ซึ่งมารยาทและภาษาไทยที่ดีงามของประเทศไปจนถึงคนรุ่นหลัง” นายสมเจตน์ กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการฯ ว่า “ในยุคสังคมออนไลน์และโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แนวโน้มและความเชื่อที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่จะนำเอาวัฒนธรรมต่างชาติมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดการยอมรับในความเป็นสากลนิยมมีมากขึ้น แต่ในเมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่ดีงามมาช้านาน รวมทั้งมีลักษณะที่ โดดเด่นของภาษาและมารยาทที่งดงาม ชาวต่างประเทศเองก็รับทราบถึงคุณสมบัติที่ล้ำค่านี้ของคนไทยเป็นอย่างดี เราควรภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย จึงรู้สึกชื่นชมธนาคารธนชาตอย่างยิ่งที่จัดโครงการ “ธนชาต ริเริ่ม เติมเต็ม...เอกลักษณ์ไทย” ขึ้นมาเพื่อช่วยรณรงค์ส่งเสริมให้คนเห็นความสำคัญในเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน รวมถึงองค์กรภาคเอกชนที่จะช่วยจรรโลงให้เอกลักษณ์ไทยคงอยู่ในสังคมของเราอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนสืบไป”
โครงการ “ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย” จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในนามธนาคาร ศรีนคร ส่งผ่านธนาคารนครหลวงไทย มาจนถึงธนาคารธนชาตในปัจจุบัน เปิดให้สถาบันการศึกษาส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันภายใต้กิจกรรมการแข่งขันและการประกวดดังกล่าว ซึ่งโครงการนี้เป็นที่ยอมรับจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเพราะมีคณะกรรมการและเกณฑ์ตัดสินที่มีมาตรฐานจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและมารยาทไทยจากราชบัณฑิตยสภา สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และปีนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีกลไกในการขับเคลื่อนหลัก คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทั่วประเทศ ในการช่วยเผยแพร่โครงการไปยังกลุ่มเป้าหมายในสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้ทั่วถึงมากขึ้นอีกด้วย
สถาบันการศึกษาสามารถส่งนักเรียนหรือตัวแทนเข้าร่วม “การแข่งขันอ่านฟังเสียง” และ “การประกวดมารยาทไทย” ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็น ๕ ระดับชั้น คือ ระดับ ป.๑ – ป.๓ ระดับ ป.๔ – ป.๖ ระดับ ม.๑ – ม.๓ ระดับ ม.๔ – ม.๖ และ ปวช. และระดับอุดมศึกษาและ ปวส. พร้อมจัดแข่งขันรอบคัดเลือกทั้ง ๔ ภาค คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลางและกรุงเทพฯ และกำหนดจัดรอบชิงชนะเลิศรวมทุกภาค ในวันที่ ๒ – ๙ กันยายน ๒๕๕๘ สำหรับ “การประกวดมารยาทไทยของเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยิน” ประกวดรอบคัดเลือกและชิงชนะเลิศประเทศในวันเดียวกัน แบ่งเป็น ๒ ระดับชั้น คือ ระดับประถมศึกษา (ป.๑-ป.๖) วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ และระดับมัธยมศึกษา (ม.๑-ม.๖) วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘
สถาบันที่สนใจ ติดตามรายละเอียดและสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.thanachartcsr.com/เอกลักษณ์ไทย (www.thanachartcsr.com/thaiculture) หรือส่งใบสมัครทางโทรสารที่หมายเลข ๐-๒๕๓๐-๘๒๘๘
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit