OKMD จับมือกูรูตลาดต่างประเทศ มุ่งสร้าง “Thai Team” เครือข่ายพัฒนาสินค้าโอทอปไทยสู่ตลาดโลก

16 Jun 2015
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เดินหน้าเผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ให้แก่ผู้ประกอบการส่วนภูมิภาคทั่วประเทศไทย นำร่องภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ตามด้วยภาคใต้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.อุดรธานี เพื่อชี้ช่องทางให้ผู้ประกอบการเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาสินค้า ได้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเตรียมความพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โอกาสทองในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ พร้อมทั้งหาแนวทางสร้าง “Thai Team” เครือข่ายการผลิต การตลาด และช่องทางจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดโลก เชื่อหากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะสามารถพัฒนาธุรกิจ OTOP ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ดันยอดจำหน่ายและส่งออกสินค้าทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ทะลุ 1 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายรัฐบาล

ดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เปิดเผยว่า จากการเดินหน้าศึกษาและวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งพบว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์OTOP ยังคงมีโอกาสทำรายได้มากขึ้น จากการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคชาวต่างชาติชื่นชอบดีไซน์และเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย OKMD จึงได้นำองค์ความรู้และประเด็นสำคัญจากงานวิจัยข้างต้น มาพัฒนาเป็นเนื้อหาสำหรับถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนทั่วทั้งประเทศมากถึง ร้อยละ 95 ได้เห็นถึงช่องทางการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภคมากขึ้น และมีแนวทางความร่วมมือการค้าเพื่อสร้าง “Thai Team” เครือข่ายการผลิต การตลาด และช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาธุรกิจ OTOP ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ช่วยดันยอดส่งออกและจำหน่ายสินค้าทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์เกิน 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2558 ตามเป้าหมายของรัฐบาล จากมูลค่าโดยรวมในปี 2557 ที่ผ่านมา ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ รูปแบบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การตลาดเพื่อการส่งออก” เกิดจากการวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของตลาด (Demand Analysis) และประเภทสินค้าที่ตลาดมีความต้องการแต่ยังคงมีช่องว่างอยู่ (Unmet Demand) ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ตลาดนั้นได้ ซึ่งจะสัญจรไปยัง 3 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย เริ่มจากภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ตามด้วยภาคใต้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.อุดรธานี ตามลำดับ โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญตลาดต่างประเทศและผู้ซื้อตัวจริงระดับโลก ร่วมกันถ่ายทอดความรู้และชี้แนะแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ยกระดับไปสู่ผู้ผลิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในระดับสากล โดยเฉพาะในประเทศที่มีความต้องการสินค้าและมีกำลังซื้อสูง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้นรวมทั้งโอกาสทองจากการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งผู้บริโภคในประเทศสมาชิกต่างให้ความยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทยเป็นอันดับหนึ่ง

“ในแต่ละปีสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP มีอัตราเติบโตประมาณ 13% ดังนั้นเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันยอดขายให้ทะลุเกิน 1 แสนล้านบาทภายในปีนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมกลุ่มธุรกิจนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน คือการจัดอบรมและเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่การพัฒนาดีไซน์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในประเทศต่างๆและการคิดค้นฟังก์ชั่นใช้สอยใหม่ๆให้สอดรับกับวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันรวมไปถึงการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการทำธุรกิจและช่องทางการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศซึ่งทั้งหมดถือเป็นข้อกำจัดสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ OTOP ไทย” ดร.อภิชาติ กล่าว

ด้าน นางสาวภิญญดา นิลกำแหง ประธานบริหาร Katsu Kafa และ Textile Business Developer จากบริษัท Katsu New York กล่าวว่า จริงๆ แล้วผู้ประกอบการในประเทศไทย ถือว่ามีความได้เปรียบผู้ประกอบการประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแง่ของวัตถุดิบที่มีคุณภาพและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปชื่นชอบ แต่สิ่งสำคัญที่คิดว่าผู้ประกอบการไทยยังขาด และควรต้องเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น คือการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตให้มีความทันสมัย เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้า อย่างเช่นขณะนี้ผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกาชื่นชอบวอลเปเปอร์ติดผนังที่ทำจากผ้าไหมไทย แต่เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีเครื่องมือที่สามารถอัดผ้าติดกับกระดาษได้โดยที่หน้าผ้าเรียบตึงเสมอกัน ทางบริษัทจึงต้องส่งผ้าไปอัดที่ประเทศญี่ปุ่นเพราะมีเครื่องมือทำได้อย่างเรียบเนียน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมาก คือการส่งสินค้าได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนกลายเป็นอุปสรรค์สำคัญที่หากผู้ประกอบการไทยไม่เร่งปรับตัว ในอนาคตสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยอาจถูกแบนจากลูกค้าในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และยอดจำหน่ายในภาพรวม นอกจากนี้ ในแง่ของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP นั้น ส่วนตัวคิดว่าผู้ประกอบการควรเพิ่มการนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของวัสดุดิบที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแต่ละชิ้น เพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกพิเศษและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดขายที่ทำให้ผู้บริโภคชาวต่างชาติหลงใหล โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่มักสนใจในรายละเอียดและเบื้องหลังของสินค้า

นางสาวภิญญดา กล่าวเสริมว่า สำหรับเทรนด์แฟชั่นในอนาคตจะเน้นเรื่องของความยั่งยืน รักโลก รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นกระบวนการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย ต้องผลิตจากเส้นใยออร์แกนิก เพื่อให้รบกวนธรรมชาติและสุขภาพผู้สวมใส่น้อยที่สุด ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ฉะนั้นการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดใช้สารเคมีและพลังงานอย่างเต็มตัว จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าท้ายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยอย่างจริงจัง