ดร.กฤชนนท์ ห่อทองคำ ประธานกรรมการบริหารจัดการสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 เห็นชอบให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้ง National Single Window (NSW) โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก ให้ความร่วมมือเพื่อร่วมผลักดันให้ระบบ NSW สามารถจัดตั้งได้บรรลุตามเป้าหมาย และเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง เร่งรัดดำเนินการพัฒนาระบบ NSW ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก สกย.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ (Cess) ซึ่งผู้ส่งยางออกทุกรายจะต้องชำระ จึงได้พัฒนาระบบรับชำระเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งยางออกทุกราย เพราะระบบการชำระเงินสงเคราะห์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Cess จะช่วยลดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการชำระเงินสงเคราะห์ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้วางแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมของยางพาราไทยทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีระบบ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทาง สกย. จึงได้เชิญผู้ประกอบการ ร่วมสัมมนาผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักร ผู้พัฒนาและให้บริการระบบ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจในการให้บริการกระบวนการในวิธีการยื่นคำขอ และการชำระเงินสงเคราะห์ อย่างเป็นทางการ โดย สกย.จะเปิดให้บริการดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สกย.ได้ออกประกาศนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา และการสัมมนาครั้งนี้ มีธนาคารต่างๆ ที่ให้บริการ มาร่วมกิจกรรม เพื่อให้ข้อมูล แก่ผู้ประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันอัตราค่าธรรมเนียม คาดว่า จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการ
“การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาเพื่อก้าวสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ และพร้อมรับเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ และยังเป็นการพัฒนาเพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อทุกภาคส่วน” ดร.กฤชนนท์ ห่อทองคำ กล่าวทิ้งท้าย
นางสาวอภิรดี ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี สกย. กล่าวว่า สกย.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ ซึ่งมีภารกิจหลักในการบริการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักร หรือเงินเซส (Cess) ที่ผ่านมา สกย.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการชำระเงินสงเคราะห์ผ่านระบบ National Single Window (NSW) โดย สกย.ได้ให้บริการรับชำระเงินสงเคราะห์แบบเอกสารมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ดังนั้น การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการบริการ และการเงินต่างๆ สกย. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบการให้บริการรับชำระเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น โดยมุ่งให้ความสำคัญถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดแก่ผู้ประกอบการ อาทิ การลดปริมาณการใช้เอกสาร การชำระเงินสงเคราะห์ได้ตลอดเวลา ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการติดต่อประสานงานขอใบรับเงินสงเคราะห์ นอกจากนี้ ระบบดังกล่าว ยังช่วยให้หน่วยงานผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องในการนำเข้า-ส่งออก สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันจากการบันทึกรายการครั้งเดียว และจัดเก็บเงินสงเคราะห์ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นางสาวอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สกย.ได้ดำเนินการประสานงานและพัฒนาระบบให้เกิดการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ มีกลุ่มผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย VAN/VAS จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท อีคัสตอมเซอร์วิส บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท คอมพิวเตอร์ ดาต้า ซิสเต็ม จำกัด และบริษัท เอ็กซิมเนท จำกัด ด้าน Gateway มีจำนวน 3 ราย ได้แก่ CAT Telecom เทรดสยาม และเน็ตเบย์ ด้านธนาคารรับชำระเงินสงเคราะห์ มี 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ทหารไทย ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงเทพ และกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ สกย.ยังมีบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บริษัทที่ยังไม่พร้อมในการพัฒนาระบบชำระเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไทยสมเด็จ จำกัด ที่สำคัญ ปัจจุบันมีผู้ส่งยางออกได้เข้ามาใช้งานระบบ e-Cess แล้ว จำนวน 25 ราย อย่างไรก็ตาม สกย. จะปิดให้บริการชำระเงินสงเคราะห์แบบเอกสารอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ พร้อมกับเปิดบริการชำระเงินสงเคราะห์ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Cess) ในวันที่ 1 สิงหาคม 2558 ที่จะถึงนี้ เป็นต้นไป ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องชำระเงินสงเคราะห์ ผ่านระบบ National Single Window (NSW) ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งยางออกทุกรายทราบและเข้าใจในการปฏิบัติร่วมกัน ในการสัมมนาครั้งนี้ สกย.จึงได้จัดวิทยากรที่เกี่ยวข้องทั้งด้านกฎหมาย ด้านนโยบายการให้บริการ และด้านระบบเพื่อพัฒนาการให้บริการ จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ผู้ประกอบการทุกราย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit