พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน(ดย.) เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กแว๊นและสก๊อยอย่างเป็นระบบ เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งการป้องกัน ฟื้นฟู และที่สำคัญคือการเสริมพลัง เพราะช่วงวัยเด็กและเยาวชนมักจะมีพฤติกรรมที่ชอบความท้าทาย หากภาครัฐได้คิดค้นวิธีการที่สามารถเข้าถึงจิตใจวัยรุ่นได้ ก็จะเป็นการเสริมพลังให้เด็กและเยาวชนได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และสามารถนำไปสู่เส้นทางชีวิตในอนาคตได้เป็นอย่างดี รวมทั้งครอบครัวก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องเข้าใจพฤติกรรมของวัยรุ่นและสามารถแนะนำบุตรหลานในเชิงจิตวิทยาให้อยู่ในกฎระเบียบของสังคม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีสองสามีภรรยา ร้องขอความช่วยเหลือจากศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยติดตามหาลูกสาวคนโต อายุ ๒๒ ปี ที่หายออกจากบ้านไปกว่า ๒ ปี โดยเกรงว่าจะถูกล่อลวงไปในทางที่ไม่ดี ซ้ำร้ายลูกสาวคนเล็ก อายุ ๑๑ ขวบ ยังป่วยเป็นโรคไข้สมองอักเสบ ร่างกายพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดสกลนคร ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสกลนคร(พมจ.สกลนคร) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามหาลูกสาวที่หายออกจากบ้านอย่างเร่งด่วน
“สำหรับกรณีหญิงอายุ ๕๖ ปี ฐานะยากจน ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูลูกที่ป่วยและพิการถึง ๓ คน เพียงลำพัง ซึ่งลูกชายคนแรก อายุ ๒๗ ปี ป่วยเป็นโรคลมชักและระบบประสาท ลูกชายคนที่สอง อายุ ๒๑ ปี ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และลูกสาว อายุ ๑๖ ปี เป็นโรคผิวหนัง ที่จังหวัดตรังนั้น ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง(พมจ.ตรัง) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit