กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือการดำเนินงานโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดน่าน

10 Jun 2015
ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาและการถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาไปสู่พื้นที่และราษฎร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการดำเนินงานโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดน่าน ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการฯ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและอาชีพ โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะ 2 ปี พ.ศ. 2558 – 2559 โดยมีกรอบแนวคิดเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาและการถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาไปสู่พื้นที่และราษฎรในเป้าหมายท้องที่อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตามพระราชปณิธาน โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูงและใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อไป 2) เพื่อการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพของราษฎรและพื้นที่บนที่สูง 3) เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องด้านการตลาด 4) เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศึกษาธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่น และ 5) เพื่อการศึกษาวิจัย ถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน มีจุดมุ่งหมาย “คนอยู่ร่วมกับป่า”

นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดน่าน ได้มีแนวทางการดำเนินงานตามพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1) พื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา (พื้นที่สาธิตด้านการเกษตร)ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีแนวทางการดำเนินงานโดยการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวของจังหวัด และแหล่งผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ของศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ เช่น ชาอู่หลง เป็นต้น รวมถึงจัดทำเป็นจุดเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ 2) พื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาตามพระราชดำริฯ จำนวน 1,200 ไร่ จัดสรรให้เกษตรกรทำการเกษตร จำนวน 127 ราย โดยให้ความสำคัญที่ตัวเกษตรกรมากกว่าพื้นที่ มุ่งเน้นเกษตรกรที่ทำกิจกรรมการเกษตรเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทุกหน่วยงานเข้าไปส่งเสริมการผลิตโดยจัดทำแผนงานให้ชัดเจน เชื่อมโยงกับโรงแปรรูป ผลิตเป็นสินค้าของศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ 3) พื้นที่ 23 กลุ่มบ้าน/หมู่บ้าน เกษตรกร 373 ราย เป็นการสร้างป่า สร้างรายได้ โดยให้หน่วยงานคัดเลือกเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ และสามารถเป็นต้นแบบ จัดทำแผนการส่งเสริมให้แก่เกษตรกร โดยการจัดเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรในแต่ละราย

4) บ้านสบปืน พื้นที่ 150 ไร่ เกษตรกร 13 ราย การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดินจากพืชไร่เป็นเกษตรผสมผสาน มีการจัดเก็บข้อมูลของเกษตรกรทั้ง 13 ราย ว่ามีการปรับเปลี่ยนแล้วดีขึ้นหรือไม่ เกษตรกรพึงพอใจหรือไม่ และให้หน่วยงานจัดทำรายละเอียดและเป้าหมายการดำเนินงาน ที่เป็นการส่งเสริมอาชีพครบวงจรและยั่งยืน และ 5) บ้านห้วยกานต์ พื้นที่ 167 ไร่การทำนาขั้นบันได ควรมีการประเมินว่าเกษตรกรที่ได้มีการปรับนาขั้นบันไดแล้ว มีความเป็นอยู่อย่างไร ดีขึ้นหรือไม่ และมีความต้องการอะไรเพิ่มเติม ซึ่งการดำเนินงานมีความเชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งในส่วนของไม้ยืนต้นและการทำนา ควรมีการจัดระบบการส่งเสริม การรวมกลุ่ม การจัดทำบัญชีครัวเรือน แผนส่งเสริมในระยะ 2 – 3 ปีต่อไปที่ชัดเจนและเชื่อมโยงกับโรงแปรรูป รวมถึงควรมีการเปรียบเทียบผลก่อนและหลังที่เข้าไปดำเนินการ ก็จะเป็นตัวอย่างความสำเร็จได้

ทั้งนี้ ได้มอบหมายผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7 และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ โดยพิจารณาจัดทำแผนงานโครงการ และงบประมาณที่จะดำเนินการในระยะเวลาที่เหลือ 4 เดือน (มิ.ย. – ก.ย. 58) ของพื้นที่เป้าหมายแต่ละแห่งให้เห็นผลสำเร็จ และจัดส่งข้อมูลให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจะได้พิจารณาสนับสนุนเงินงบประมาณ รวมทั้งขอให้พิจารณาว่า จะมอบหมายหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการโครงการ และนำเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัดพิจารณาแต่งตั้งต่อไป