7 มิ.ย. 2558 ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นกรณีบอร์ดค่าจ้างยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและจะใช้ระบบการปรับค่าจ้างแบบลอยตัว ตามกลุ่มอุตสาหกรรมและตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด ว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศเพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานผู้มีรายได้น้อย ส่งผลต่อการบริภาคภายในประเทศและจะทำให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมชะลอตัวลง นอกจากนี้หากกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากันก็จะทำให้อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานลดลง เกิดการกระจุกตัวของผู้ใช้แรงงานในเขตเมืองใหญ่ๆ เกิดปัญหาสถาบันครอบครัวต่อแรงงานระดับล่างเนื่องจากจะมีการอพยพย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองใหญ่เพื่อต้องการค่าแรงที่สูงกว่า การกำหนดอัตราเดียวทั่วประเทศจะทำให้ปัญหาดังกล่าวบรรเทาลง และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในต่างจังหวัด
ส่วนกิจการขนาดกลางขนาดเล็กในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลต้องมีมาตรการอย่างอื่นเยียวยาแต่ไม่ควรไปปรับลดค่าแรงขั้นต่ำลงมาเพราะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมและกระทบต่อผู้ใช้แรงงานอย่างมาก ค่าแรง 300 ใช้มาระยะหนึ่งแล้ว กิจการและอุตสาหกรรมต่างๆก็ปรับตัวได้ระดับหนึ่งแล้วและบางส่วนก็ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงขั้นต่ำต่ำกว่าไทย แม้นยกเลิกค่าแรง 300 บาทก็จะไม่ได้ส่งผลบวกอย่างมีนัยยสำคัญต่อภาคการลงทุนภาคส่งออก ส่วนการที่กล่าวว่า ภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทไม่น่าจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง การที่ส่งออกติดลบเป็นผลจากปัจจัยอื่นๆมากกว่า นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า ผลิตภาพของแรงงานไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลิตภาพของทุนปรับตัวดีขึ้นน้อยมาก ปัญหาเรื่องความสามารถ
ในการแข่งขันของไทยจึงอยู่ที่ผลิตภาพของทุน (Capital Productivity) มากกว่า ผลิตภาพของแรงงาน (Labour Productivity) ขณะนี้เองในหลายกิจการหลายอุตสาหกรรมก็จ่ายค่าจ้างสูงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว เพราะหากจ่ายต่ำกว่าก็หาแรงงานมาทำงานไม่ได้
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การกำหนดค่าแรงตามประเภทอุตสาหกรรมและตามการพัฒนาการเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ตนเห็นด้วย และ ให้กำหนดจากความรู้ความสามารถของคนงาน และ อุปสงค์อุปทานของตลาดแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมและแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องแยกออกจาก ระบบค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นค่าจ้างขั้นต่ำสุดที่จ่ายให้กับแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labour) เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ค่าแรงขั้นต่ำที่จ่ายกันวันนี้ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้วสำหรับแรงงานในเมืองใหญ่ คนเหล่านี้เกือบ 80-90% จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพมาจากต่างจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน
ในต่างจังหวัดบางจังหวัด อย่างแม่ฮ่องสอน แพร่ พิจิตร พะเยา เดิมค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 151 บาทปรับมาเป็น 300 บาท แรงงานในพื้นที่ก็พออยู่ได้ น่าน ศรีสะเกษ เดิมได้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 152 บาท สุรินทร์ และ ตาก เดิมได้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 153 บาทปรับมาเป็น 300 บาท คนทำงานในพื้นที่พออยู่ได้เพราะไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ไม่มีค่าใช้จ่ายค่าเดินทาง แต่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง แม้นยังไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในต่างจังหวัดก็เกิดผลกระทบแล้วเมื่อผู้ใช้แรงงานคาดว่ารายได้ตัวเองจะลดลงในอนาคตหลังใช้ค่าจ้างลอยตัวตามพื้นที่ ก็จะระมัดระวังในการใช้จ่าย ส่งผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัวลง
ระบบค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเป้าหมายความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรก็ได้เพื่อให้บรรลุความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวโดยไม่ใส่ใจต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความสามารถในการแข่งขัน และ หากไม่ได้กำหนดขึ้นบนความเข้าใจต่อการทำงานของกลไกตลาดของตลาดแรงงาน การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่ศึกษาอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงาน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ย่อมนำมาสู่ภาวะการว่างงานของแรงงานไร้ฝีมือได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ประเทศอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน จึงไม่มีปัญหาดังกล่าว การจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำหรือจ่ายค่าแรงต่ำเกินไปต่างหากกลับจะสร้างปัญหาการขาดแคลนรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวต่อว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ เป็นโจทย์สำคัญสำหรับนโยบายแรงงานที่ต้องไม่มองอย่างแยกส่วนจากนโยบายสาธารณะด้านอื่นๆ เดิมเราเคยใช้ระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีแห่งชาติ ต่อมาเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำใหม่โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด แต่ละจังหวัดจึงมีค่าจ้างขั้นต่ำไม่เหมือนกัน การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ หรือ กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ในมุมมองเศรษฐศาสตร์แรงงานแล้ว มีข้อดีข้อเสียทั้งสองแบบ นายจ้างมีความโน้มเอียงสนับสนุนค่าจ้างขั้นต่ำหลายอัตรา นายจ้างมองว่าไม่ควรเท่ากันเพราะต้นทุนค่าขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ส่วนลูกจ้างมองว่า ค่าครองชีพของแต่ละจังหวัดใกล้เคียงกันฉะนั้นค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นอัตราเดียวทั่วทั้งประเทศ ข้อถกเถียงอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ นิยามค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นอย่างไร นิยามที่เหมาะสมจะช่วยบอกว่า ค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนี้หรืออนาคตสูงไปหรือต่ำไป พึงรำลึกว่า ค่าจ้างขั้นต่ำมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน และ ค่าจ้างต้องเพียงพอต่อการครองชีพของลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัว (ตามนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ) หลังจากนั้นอัตราค่าจ้างต้องปรับตามประสบการณ์และฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากค่าจ้างไม่ปรับตัวสูงขึ้นและจ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่เรื่อยๆ เป็นไปไม่ได้ที่คนงานจะมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครับ
สำหรับค่าแรงขั้นต่ำเวลานี้ก็ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ นายจ้างส่วนใหญ่จะมองว่าเพียงพอสำหรับลูกจ้างเพียงคนเดียว ขณะที่ลูกจ้างมองว่าต้องเพียงพอสำหรับตัวลูกจ้างและสมาชิกอีกอย่างน้อยสองคน
หากนิยามตามองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ จึงไม่ควรปรับลด เรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ต้องมีเรื่องระบบสวัสดิการสังคม และ การควบคุมค่าครองชีพมาช่วยเสริมด้วย การจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้นั้น รัฐไม่ได้มีภาระดูแลเพียงแรงงาน ในระบบราว 10 ล้านคนเท่านั้น หากรัฐยังต้องดูแลแรงงานนอกระบบกว่า 25 ล้านคนด้วย และ 25 ล้านคนนี้ก็ต้องการระบบสวัสดิการพื้นฐานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ อย่างไรก็ตาม ข้อดีของระบบค่าจ้างแบบลอยตัวก็มีอยู่ ยกตัวอย่าง หากเศรษฐกิจไม่เติบโตตามเป้าและแข่งขันไม่ได้ ย่อมเป็นการยากที่รัฐจะมีงบประมาณมาสนับสนุนระบบสวัสดิการเช่นเดียวกัน และ สิ่งนี้ก็เห็นกันอยู่สำหรับประเทศในยุโรป หลายประเทศเกิดวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะและมีอัตราการว่างงานมากกว่า 10% ขณะที่ระบบการจ้างงานและค่าจ้างขั้นต่ำขาดความยืดหยุ่นไม่สามารถตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit