นางสาววรัญญา หอมธูป เป็นเยาวชนของชุมชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า จากการคิดค้นสร้างสรรค์ลิปกลอสส้มซ่า “ตั้งโจทย์ไว้ว่า ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีความแตกต่างจากท้องตลาด มีความทันสมัย โดดเด่น ในขณะที่ยังคงภูมิปัญญาของท้องถิ่นเราอยู่ ในที่สุดจึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลริมฝีปากที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากสารสกัดเซลล์เนื้อเยื่อเจริญของส้มซ่า สามารถใช้ได้ทุกช่วงเวลาและโอกาส”ก่อนหน้านี้ลิปกลอสส้มซ่ายังได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคเหนือและรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศในการประกวดการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ประจำปี 2557 และรางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์สมุนไพร ระดับเขตสุขภาพที่ 2 ประจำปีพ.ศ.2558ขณะนี้ลิปกลอสส้มซ่าได้รับความสนใจจากคนทุกเพศ ทุกวัย ด้วยคุณสมบัติช่วยบำรุงริมฝีปากให้นุ่มชุ่มชื่น เมื่อทาลิปสติกจะทำให้เนื้อสีเนียนเรียบ สม่ำเสมอ มีทั้งหมด 5 สี ตามบุคลิกของแต่ละคน โดยมีทั้งผู้ที่ซื้อไปใช้เอง และนำไปขายต่อ ล่าสุดมีผู้ประกอบการรายใหญ่สั่งผลิตลิปกลอสส้มซ่าจำนวน 60,000 แท่ง เพื่อส่งออกต่างประเทศ
นอกจากนี้วรัญญายังมีส่วนร่วมในการพัฒนาขับเคลื่อนด้านการผลิต วางแผนการตลาดและการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ตระหนักในคุณค่าของสมุนไพรท้องถิ่น ร่วมอนุรักษ์ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อเปิดตลาดวัยรุ่น
“ส้มซ่าและพืชสมุนไพรในหมู่บ้าน ชาวบ้านลงมือปลูกเอง เก็บเอง ขายเอง ปลอดจากสารเคมี เป็นธรรมชาติ 100 % ถ้าวัยรุ่นมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจวัยรุ่นด้วยกัน นับเป็นการขยายตลาด และอนุรักษ์ พัฒนาอย่างเข้มแข็งมากขึ้น”วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่าเกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชนที่ต้องการสร้างกิจกรรมที่อาศัยศักยภาพของคนในท้องถิ่น ในการบูรณาการ โดยใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาในท้องถิ่น ผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นต้น
“นอกจากการอนุรักษ์ต้นส้มซ่าแล้ว ยังต้องการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน พัฒนาชุมชน สร้างมูลค่าของส้มซ่าใน 3 มิติ คือ มิติเกษตร มิติอุตสาหกรรมความงาม และมิติอาหารท้องถิ่น พร้อมทั้งเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือถ้าเป็นส้มซ่าต้องมาที่นี่เท่านั้น การใช้ประโยชน์เพื่อสร้างชื่อเสียงและการยอมรับจนเกิดเศรษฐกิจชุมชนในวงกว้างต่อไป” นางสาววรัญญา หอมธูป กล่าวทิ้งท้าย
ส้มซ่าเป็นพืชสมุนไพรประจำท้องถิ่นหมู่บ้านวังส้มซ่ามาตั้งแต่อดีต ปลูกไว้สำหรับบริโภคและเป็นยาแผนโบราณ ปัจจุบันชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ต้นส้มซ่าหลังจากในหมู่บ้านเหลือต้นส้มซ่าดั้งเดิมอยู่เพียงต้นเดียว โดยการเพาะพันธุ์ต้นส้มซ่าและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ได้แก่ แชมพูส้มซ่า ครีมนวดผมส้มซ่า เจลอาบน้ำส้มซ่า โลชั่นบำรุงผิวส้มซ่า ลิบบาล์มส้มซ่า และลิปกลอสส้มซ่า นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากวัสดุอื่น ๆ ในท้องถิ่น ได้แก่ กล้วยและธัญพืช